ผ่าไส้ใน ระเบียบราชทัณฑ์ เอื้อ "ทักษิณ" เลี่ยงนอนคุก

21 ธ.ค. 2566 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 14:51 น.

ผ่าไส้ใน ระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ เอื้อ นายทักษิณ ชินวัตร รอดนอนคุก หลัง 6 ธ.ค. กรมราชทัณฑ์ออกหนังสือเวียนถึง ผบ.เรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการสถานกักขัง ผู้อำนวยการสถานกักกัน ทั่วประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังจับตาดูการเข้ารักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่โรงพยาบาลตำรวจครบ 120 วัน ว่าจะมีการนำตัวนายทักษิณกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพหรือไม่

หรือจะสามารถรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป รวมถึงการตั้งข้อสังเกตต่อการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมาให้สามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ โดยถูกจับตาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ 

ฐานเศรษฐกิจ กางระเบียบราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ที่น่าสนใจหลังจากได้มีการลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 

โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 พร้อมส่งหนังสือแจ้งไปยัง ผบ.เรือนจำ, ผอ.ทัณฑสถาน, ผอ.สถานกักขัง และ ผอ.สถานกักกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่

ระเบียบดังกล่าว มีทั้งสิ้น 6 หมวด 20 ข้อ โดยมีข้อที่น่าสนใจดังนี้

หมวด 1 สถานที่คุมขัง

ข้อ 6 การคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขัง ให้สามารถทำได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ และในสถานที่คุมขัง ดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง โดยคุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ

(2) การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย โดยคุมขังใน "สถานที่ราชการ" หรือสถานที่ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ 

"สถานศึกษา" ตามกฎหมายว่าด้วย การศึกษาแห่งชาติ 
"วัด" ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ 
"มัสยิด" ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนา อิสลาม 
สถานที่ทำการหรือสถานประกอบการของเอกชน ,สถานที่ทำการของมูลนิธิ ,สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน

(3) การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง โดยคุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 

(4) การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยคุมขังในสถานที่คุมขังตาม (1) (2) หรือ (3)

ข้อ 7 กำหนดให้ต้องประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) เป็นสถานที่คุมขังที่มีวัตถุประสงค์ใด และเป็นประเภทใดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560

(2) ที่อยู่และเลขประจำบ้านที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน เลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าสถานที่คุมขังดังกล่าวตั้งอยู่ ณ ท้องที่ใด

(3) แผนที่แสดงอาณาเขตของสถานที่คุมขังดังกล่าว

(4) ชื่อและนามสกุลของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง

ซึ่งในประเด็นดังกล่าว นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตอบคำถามในบทความ หัวข้อ “คู่มือช่วยนักโทษไม่ให้ติดคุก!!!” ว่า กฎกระทรวงปี 63 ระบุให้วางระเบียบการบริหารแนวทางปฏิบัติงาน การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังแต่ละประเภทที่อยู่ในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ

ทั้งหมดนี้ต้องวางระเบียบให้เห็นชัดเจน เช่น ถ้าเราจะเลือกเอานักโทษคดีติดยาเสพติดมาฟื้นฟูให้อยู่ในวัด หรือมัสยิดแห่งหนึ่ง หรือถ้าจะเอานักโทษที่ร่างกายทรุดโทรมมาพักฟื้นในไร่ข้าวโพดที่วังน้ำเย็น เหล่านี้ต้องทำอย่างไร บริหารอย่างไร  

อธิบดีจะต้องประกาศต่อไปว่า ในแต่ละเรือนจำจะมีสถานที่คุมขังนอกเรือนจำที่ใดบ้าง ประเภทใดบ้าง เช่น ประเภทฟื้นฟูฝึกอาชีพผู้ติดยา, ประเภทเตรียมตัวก่อนพ้นโทษ, ประเภทพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

ซึ่งหากใช้บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็อาจกำหนดเป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำประเภทใดก็ได้ อาจจะรวมนักโทษคดีคอรัปชั่นทั้งเรือนจำคลองเปรมมาฟื้นฟูนิสัยให้เลิกคดโกงก็ได้ หรือเพื่อเตรียมตัวก่อนพ้นโทษก็ได้ พยาบาลก็ได้ 

ที่สำคัญคือจะต้องเปิดรับนักโทษที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเป็นการทั่วไป จะรับแต่นักโทษเจ้าของบ้านคนเดียวไม่ได้ ผู้คนในบ้านก็ต้องย้ายออกให้หมด เพราะบ้านกลายเป็นที่คุมขังไปแล้ว 

หมวด 2 คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณา ให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง
ข้อ 8 (2) ผู้ต้องขังต้องผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง หรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำ เห็นว่าควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ 

หมวด 3 ข้อ 13 ในการพิจารณาของคณะทำงาน ให้คำนึงถึงเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบกัน
(1) ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่
(2) พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ
(3) ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ
(4) ความเสี่ยงในการหลบหนี
(5) ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน
(6) ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับ ผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง
(7) ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง
(8) ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง

เมื่อคณะทำงานเห็นสมควรให้ผู้ต้องขังรายใดไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้เสนออธิบดี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ต้องขังดังกล่าวไปคุมขังในสถานที่คุมขัง และเมื่ออธิบดีอนุมัติแล้วให้กำหนดแผนที่ และอาณาเขตสถานที่คุมขังดังกล่าวและประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ต่อนายทักษิณว่า นายทักษิณเข้าเกณฑ์ระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่  เพราะไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษในลักษณะที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เคยชี้แจงไว้เช่นกันว่า นายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระบวนการของนายทักษิณ รัฐบาลนี้จึงไม่ได้รับรู้

ส่วนการเข้ารักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ สำหรับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังในสถานที่ไม่ใช่เรือนจำได้นั้น เป็นการดำเนินการรองรับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เพราะเราถูกตราหน้าจากสังคมโลกว่า มีเรือนจำที่มีนักโทษล้นคุก มีเรือนจำที่เปรียบเสมือนการทรมาน 

และระบบบริหารเรือนจำ ไม่มีบทบัญญัติให้มีสถานคุมขังประเภทอื่นนอกจากเรือนจำ จึงต้องออกระเบียบใหม่ และยังต้องนำเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ต้นเดือน ม.ค.2567 ขณะนี้เตรียมออกระเบียบอีกฉบับให้การคุมขังนอกเรือนจำครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนด้วย

คลิกอ่านรายละเอียดหนังสือเวียนสถานที่คุมขัง