"แก้วสรร" ชำแหละ ระเบียบราชทัณฑ์ อุ้ม "ทักษิณ" รอดคุก

21 ธ.ค. 2566 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 12:45 น.
2.0 k

"แก้วสรร อติโพธิ" ชำแหละ "ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566" หรือ คู่มือเอื้อไม่ให้ "ทักษิณ ชินวัตร" ต้องติดคุก ฟันธง นอนนอกคุก-บ้านจันทร์ส่องหล้าไม่ได้ ท้าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อยากติดคุกเชิญเลย

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวแจ้งว่า นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ออกบทความ หัวข้อ “คู่มือช่วยนักโทษไม่ให้ติดคุก!!!” ไขข้อสงสัย 7 คำถาม 7 คำตอบ เกี่ยวกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เป็นการเร่งรัด-ตกหล่นสาระสำคัญ

และเปิดช่องให้ "คณะกรรมการคัดเลือก" ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า นายทักษิณจะเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ฯ โดยใช้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นที่คุมขังนอกเรือนจำได้หรือไม่ 

ถาม : ถ้าพ้น 120 วันไปแล้ว  นช.ทักษิณจะนอนโรงพยาบาลตำรวจต่อไปอีกได้ไหม?

ตอบ : ระเบียบบอกไว้ว่า ถ้ายาวนานถึง 90 วัน ให้ ผบ.เรือนจำรายงานอธิบดีราชทัณฑ์ ถ้าถึง 120 วัน ก็ให้อธิบดีรายงานรัฐมนตรี 
บทบัญญัติอย่างนี้ ผู้รับรายงานจะทำแค่ลงนาม “ทราบ” เท่านั้นไม่ได้ เพราะนี่เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้ต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่า นช.ทักษิณ ป่วยจริงหรือไม่ เรื้อรังหนักหนาถึงขั้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ดูแลไม่ไหวจริงหรือเปล่า   

 

ถาม : ถ้าเขาไม่ยอมตรวจสอบเลยจะเกิดอะไรขึ้น

ตอบ : ถึงจุดนี้ อำนาจตรวจสอบ ทั้งของนายกรัฐมนตรี, ของคณะกรรมาธิการสภา , ขององค์กรอิสระ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปปช.  ก็มีความชอบธรรมที่จะล่วงเข้ามาตรวจสอบ การใช้อำนาจดุลพินิจนี้ได้แล้ว  และจะอ้างสิทธิส่วนตัวของนักโทษมาปกปิดข้อมูลจากการตรวจสอบไม่ได้เลย

ถาม : ถ้ากลัวการตรวจสอบก็ต้องหาทางใช้ช่องทางใหม่จะได้ไม่ต้องกลับไปนอนคุก

ตอบ : สองช่อง ทางแรกก็ คือ พักโทษ กับ อภัยโทษในคราว 5 ธันวา เรื่องพักโทษนั้นไม่เข้าเงื่อนไข เหลือลุ้นอภัยโทษ ก็กลับไม่มีชื่อในประกาศ  

ดังนั้น พอวันที่ 6 ธันวา จึงเกิดช่องทางใหม่ตามขึ้นมาเลย นั่นก็คือ การออกระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วย การคุมขังในสถานที่นอกเรือนจำที่ครอบคลุมถึงการให้นักโทษไปอยู่ตามที่พักอาศัยได้

 

ถาม : ระเบียบนี้เขาออกมาเพื่อ นช.ทักษิณ จริงหรือครับ เพราะเรื่องคุมขังนอกเรือนจำนี้มีกฎหมายใหม่รับรองไว้ตั้งแต่ปี 2560 กฎกระทรวงก็ตามมาในปี 2563 มันเป็นไปได้หรือ ที่พวกเขาจะวางแผนช่วยกันมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว

ตอบ : ผมไม่ได้ยืนยันอย่างนั้น ผมเห็นแต่ตัวระเบียบนี้เท่านั้นที่ดูแล้วน่าจะลนลาน เร่งรัด จนตกหล่นสาระสำคัญไปหมด กฎกระทรวงปี 63 ระบุให้วางระเบียบการบริหารแนวทางปฏิบัติงาน การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังแต่ละประเภทที่อยู่ในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ ทั้งหมดนี้ต้องวางระเบียบให้เห็นชัดเจน เช่น ถ้าเราจะเลือกเอานักโทษคดีติดยาเสพติดมาฟื้นฟูให้อยู่ในวัด หรือมัสยิดแห่งหนึ่ง หรือถ้าจะเอานักโทษที่ร่างกายทรุดโทรมมาพักฟื้นในไร่ข้าวโพดที่วังน้ำเย็นเหล่านี้ต้องทำอย่างไร บริหารอย่างไร    

ระเบียบอย่างนี้ต้องมีให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ  แต่กลับไม่ปรากฏในระเบียบ 6 ธันวาเลย มีกำหนดเพิ่มขึ้นมาในเรื่องตั้งคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกนักโทษกับคุณสมบัติกว้างๆ และกระบวนการคัดเลือกเพื่อเสนอ ผบ.เรือนจำอนุมัติเท่านั้น  มันชัดเจนว่าเร่งรัด ตกหล่นจริงๆ

ถาม : เขาจะเอาบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” เป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำได้ไหม

ตอบ : นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในข้อแรกนั้นกฎกระทรวง ปี 63 ข้อ 8 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อออกระเบียบ  6 ธันวาแล้ว อธิบดีจะต้องประกาศต่อไปว่า ในแต่ละเรือนจำจะมีสถานที่คุมขังนอกเรือนจำที่ใดบ้าง ประเภทใดบ้าง เช่น ประเภทฟื้นฟูฝึกอาชีพผู้ติดยา, ประเภทเตรียมตัวก่อนพ้นโทษ, ประเภทพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

ถาม : บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นประเภทไหนได้บ้าง

ตอบ : ได้ทั้งนั้น อาจจะรวมนักโทษคดีคอรัปชั่นทั้งเรือนจำคลองเปรมมาฟื้นฟูนิสัยให้เลิกคดโกงก็ได้ หรือเพื่อเตรียมตัวก่อนพ้นโทษก็ได้ พยาบาลก็ได้ ที่สำคัญคือจะต้องเปิดรับนักโทษที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเป็นการทั่วไป จะรับแต่นักโทษเจ้าของบ้านคนเดียวไม่ได้ ผู้คนในบ้านก็ต้องย้ายออกให้หมด เพราะบ้านกลายเป็นที่คุมขังไปแล้ว

ถาม : อธิบดีราชทัณฑ์จะประกาศตามกฎกระทรวง ปี 63 ให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นสถานที่คุมขังเพียงสถานที่เดียว  จากนั้นคณะทำงานตามระเบียบ 6 ธันวา ก็เลือก นช.ทักษิณ มาอยู่เพียงคนเดียวได้หรือไม่

ตอบ : ถ้าอธิบดีกับคณะทำงานอยากติดคุก ก็เชิญเลย ติดแน่นอน...รับรองได้