ศุลกากรรับลูก “เศรษฐา” เข้มจับปืน-ยาเสพติด ปราบสินค้าผิดกฎหมาย

12 พ.ย. 2566 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2566 | 08:45 น.

กรมศุลกากร เร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ปราบของเถื่อนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย เข้มจับสินค้าเป็นภัยสังคม ชี้เดือนแรกปีงบ 67 พบของเถื่อน 140 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้า – ส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) สินค้าที่เป็นภัยต่อสังคม อาทิ อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าเกษตร

ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ กรมศุลกากรจึงเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร โดยในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 9 พฤศจิกายน 2566) สรุปยอดรวมที่มีการจับกุมสินค้าที่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย รวมทั้งสิ้นกว่า 140 ล้านบาท  มีรายละเอียด ดังนี้

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร

1. สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

กรมศุลกากร ได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผ่านทุกช่องทางการขนส่งระหว่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการลักลอบนำเข้ารวมทั้งสิ้น 8 ราย จำนวน 31,790 ชิ้น มูลค่า 24.88 ล้านบาท

2. สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR)

กรมศุลกากรจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR)  จำนวน 50,154 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 43.3 ล้านบาท

3. อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน

กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ พบส่วนประกอบของอาวุธและเครื่องอุปกรณ์ของอาวุธที่อาจนําไปใช้ในการรบหรือการสงคราม (อาวุธสงคราม ตระกูล M16)  น้ำหนักรวม 41.50 กิโลกรัม  มูลค่าประมาณ 200,000 บาท

4. บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เพื่อรักษากลไกทางการตลาด และเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยกรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าบุหรี่ จำนวน 174 ราย มูลค่า 6.8 ล้านบาท และจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบ  หลีกเลี่ยงนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 32 ราย มูลค่า 4.3 ล้านบาท

5. น้ำตาลทราย

ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2566 เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งน้ำตาลทราย ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กำหนดให้ผู้ส่งของออก น้ำตาลทรายซึ่งมีปริมาณครั้งละตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป กรมศุลกากรจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

6. สินค้าเกษตร 

กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและจับกุมผู้ลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในราชอาณาจักร อาทิ หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม เนื้อโค กระบือ และขาไก่ เพื่อเป็นการรักษากลไกทางการตลาด และสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถขายผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

7. ยาเสพติด

กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามา – ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

8. สินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร

กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้า โดยไม่มีหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้อง