"สคช."เปิดช่องให้คุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับกำลังคนของประเทศ

05 ก.ย. 2566 | 16:12 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 16:12 น.

"สคช."เปิดช่องให้คุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับกำลังคนของประเทศ เดินหน้าชี้แจงแนวทางปฏิบัติหลังมีการปรับหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่เปิดช่องในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพใหม่ถึง 6 ช่องทาง

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยว่า สคช. ได้ดำเนินการเปิดช่องทางให้กำลังคนมีโอกาสได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพได้กว้างขึ้น 

ทั้งนี้ สคช.มีองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพรวม 318 แห่ง ในทุกภูมิภาค มีผู้ตรวจประเมินองค์กร หรือ Assessor จำนวน 1,547 คน สามารถผลักดันให้กำลังแรงงานของประเทศได้รับคุณวุฒิวิชาชีพแล้วถึง 177,012 คน 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรมพลิกโฉมองค์กรรับรอง สู่เส้นทางใหม่ในการให้คุณวุฒิวิชาชีพ ชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้แก่องค์กรรับรองเพื่อการรับรองกำลังคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ หลังมีการปรับหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่เปิดช่องในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพใหม่ถึง 6 ช่องทาง   

"กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ปรับตัวพร้อมรับตามแนวทางการดำเนินงานที่เปิดช่องทางให้กำลังคนมีโอกาสได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพได้กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาองค์กรไปเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมในหลักสูตรที่สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ โดยมีสถาบันให้การรับรองหลักสูตรนั้นจนท้ายที่สุดกำลังแรงงานที่อยู่ในทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพอย่างสูงสุด"
 

นางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการ สคช. ระบุว่า ในปี 2566 สถาบันได้มีกลไกขับเคลื่อนเพื่อเปิดโอกาสให้กำลังแรงงาน ได้เข้าถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถในการประกอบอาชีพ ด้วยการวัดระดับจากมาตรฐานอาชีพ ที่ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญเจ้าของอาชีพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต 

"สคช."เปิดช่องให้คุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับกำลังคนของประเทศ

และการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย แล้วรวม 52 สาขาวิชาชีพ มากกว่า 1,000 อาชีพ โดยในปี 2566 มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่จำนวน 28 อาชีพ อาทิ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมดิจิทัล อาชีพเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภาครัฐ และอาชีพผู้ประนอม (Mediator) เป็นต้น และมีการทบทวนมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ จำนวน 410 อาชีพ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของโลก

ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีการรับรองมาตรฐานอาชีพของต่างประเทศเพิ่มเติม 1 มาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอ้างอิงมาตรฐานสากล IRIS ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในอาชีพ ได้เข้าใจถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ ช่วยแก้ปัญหาแรงงานต้องอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ แสวงประโยชน์ และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมีการให้คุณวุฒิวิชาชีพแก่กำลังคนไปแล้วกว่า 43,950 คน ล่าสุดมีการประเมินอีกหนึ่งอาชีพสำคัญที่แม้แต่ AI ก็แทนที่ไม่ได้ ก็คืออาชีพควาญช้าง ที่เป็นการรับรองความสามารถ ความเชี่ยวชาญในอาชีพควาญช้างเป็นครั้งแรกของโลก ถือเป็นหนึ่งใน  Soft Power ของไทย ในการถ่ายทอดประเพณี วัฒธรรม การเลี้ยงช้างที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ ไม่เพียงแต่การรับรองควาญช้าง 

ในปีทีผ่านมา สคช. ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการผลักดัน Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น อาหาร การออกแบบ เทศกาล ประเพณี ศิลปะป้องกันตัว รวมถึงภาพยนตร์ โดย สคช. มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้ตัดสินมวยไทย และแผนการจัดทำมาตรฐานอาชีพนักเขียนบท จากแนวทางในการพัฒนานักเขียนบท เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมครีเอทีฟคอนเทนต์ ที่ได้เชิญ Park Jae Bum นักเขียนบทชื่อดังจากสาธารณรัฐเกาหลี มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางการผลักดันให้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็น Soft Power ของประเทศ

นอกจากนี้ มีความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการเชื่อมโยงและให้การยอมรับมาตรฐานอาชีพกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน แล้วอย่างน้อย 20 อาชีพ 3 สมรรถนะ รวมถึงขยายการยอมรับในกระบวนการของระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปยังสถานประกอบการ สร้างเป็น Best Practice ในการใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพพัฒนา เสริมศักยภาพกำลังคนในสถานประกอบการ และการจัดทำมาตรฐานอาชีพสำหรับสถานประกอบการเอง 

โดยมีสถานประกอบการอย่างน้อย 19 แห่ง ที่สถาบันฯ พิจารณาเนื้อหาหลักสูตรการฝึกอบรมของสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่การให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แล้ว ตามข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะสำหรับ สถานประกอบการ อาทิ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย), บริษัท คาร์ซัม อะคาเดมี่ (ประเทศไทย), บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์, บริษัท ฟู้ดแพชชัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สคช. ได้มีการจัดตั้งและขับเคลื่อนการดำเนินงานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนากำลังคนในวิชาชีพ (Industry Competency Board) เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในประเทศ จำนวน 8 คณะ คือด้านโลจิสติกส์ ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและบริการทางการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ด้านอุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทน ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำไปสู่การรับรอง และการจัดทำหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 

ขณะที่การพัฒนาสมรรถนะบุคคลด้วยนวัตกรรม สคช. ได้ส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรมด้วยตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบโจทย์การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ด้วยการพัฒนาระบบ E-Training การจัดทำชุดฝึกอบรมและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ตามมาตรฐานอาชีพ 40 ชุดฝึกอบรม เช่น สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมดิจิทัล อาชีพนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst)  อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมข้อมูล,สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น  (รวมทั้งสิ้นมีหลักสูตรการอบรมแล้วกว่า 558 หลักสูตร) มีผู้เข้าใช้ระบบ E-Training ในการฝึกอบรมากกว่า 100,574 คน
สคช. พัฒนาแพลตฟอร์ม EWE เชื่อมระบบเต็มรูปแบบ เน้นหางานได้ ใช้งานสะดวก  

สคช. ยังมุ่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อการพัฒนากำลังคนของประเทศทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศ E-Workforce Ecosystem ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานแพลตฟอร์มแล้วกว่า 50,000 คน ซึ่งในแพลตฟอร์ม ก็มีบริการทั้ง แฟ้มสะสมผลงาน E-Portfolio, บริการแนะแนวอาชีพ – ค้นหาทักษะ, สั่งสมสมรรถนะการเรียนรู้, หลักสูตรฝึกอบรม, คูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต, ระบบจับคู่งาน และบริการข้อมูลด้านกำลังคน ทั้งหมดล้วนนำไปสู่กลไกระบบพื้นฐานเพื่อการพัฒนากำลังคนของประเทศตลอดชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ยกระดับคุณภาพกำลังแรงงานเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยต่อไป