4 สิงหาคม “วันสัตวแพทย์ไทย” วันที่ "ในหลวง ร.9" โปรดเกล้าฯสมาคมสัตวแพทย์ฯ

04 ส.ค. 2566 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 08:05 น.

เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตวแพทย์ต่อสังคมไทย จึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสัตวแพทย์ไทย” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

สัตวแพทย์ เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยสัตวแพทย์จะคอย ดูแลรักษาสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันไม่ให้เกิดโรค

แต่ปัจจุบันวิชาชีพด้านสัตวแพทย์เรียกได้ว่ายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก และเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสัตวแพทย์จึงมีการกำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคม เป็น วันสัตวแพทย์ไทย โดยในวันนี้เมื่อปีพุทธศักราช 2491 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ย้อนประวัติ และความหมาย

คำว่า สัตวแพทย์ในภาษาอังกฤษนั้น คือคำว่า Veterinarian นิยมใช้ในอเมริกาเหนือ ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย โทมัส บราวน์ (Thomas Browne) ขณะที่คำว่า Veterinary Surgeon นิยมใช้มากกว่าในยุโรป แต่ทั้งสองคำก็มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือคำว่า Veterinae ซึ่งหมายความว่า draught animals บางครั้งอาจจะใช้คำสั้น ๆ ว่า "Vet"

สัตวแพทย์จะคอย ดูแลรักษาสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันไม่ให้เกิดโรค

ในประเทศไทยคาดว่า ผู้ที่นำคำว่า “สัตวแพทย์” มาใช้คือ พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก ตามลำดับ ถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยต้องการผลิตกำลังพลป้อนกองทัพ และได้พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ตั้งอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ พันโท หลวงชัยอัศวรักษ์ เป็นปฐมคณบดี หรือคณบดีคนแรกนั่นเอง ถือเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา

ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศในสมัยนั้น รัฐบาลได้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 โดยให้มีการเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 2 ปี และไปเรียนที่ถนนอังรีดูนังต์ อีก 4 ปี หลังจากนั้นต่อมาได้มีการย้ายกิจการคณะไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดตั้งเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2510 แต่ก็ยังมีอาจารย์และนิสิตส่วนหนึ่งอยู่พัฒนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป โดยได้เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ในสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม เป็นคณบดี และถือว่าท่านคือบิดาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็ได้มีการเปิดสอนวิชาสัตวแพทยศาสตร์ ในระดับประกาศนียบัตรเช่นกัน ณ โรงเรียนสัตวแพทย์ (Paraveterinary School) เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้แก่กรมปศุสัตว์ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนสัตวแพทย์ของประเทศ โดยมีเพลงนกน้อยในไร่ส้ม เป็นเพลงที่ถูกแต่งเพื่อชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของสัตวแพทย์ในชนบท และเพลงนี้ได้ถูกนำไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนในเวลาต่อมา

ขอบคุณสัตวแพทย์ทุกท่านที่ช่วยให้พวกเรามีสุขภาพดีนะกั๊บ

สัตวแพทย์เป็นบุคลากรกลุ่มแพทย์และสาธารณสุขที่คอยดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย นก และสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู วัว ไก่ ปลา อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ วินัจฉัย และบำบัดรักษาโรคให้กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ อีกด้วย

นอกจากสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจแล้ว ในโลกของเรายังมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งอาศัยอยู่ตามป่า หรือเป็นสัตว์ป่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยง หากสัตว์เหล่านี้มีอาการเจ็บป่วยสัตว์แพทย์ที่จะรักษาบำบัดโรคให้ได้นั้นคือ สัตวแพทย์รักษาสัตว์ป่า

ถ้าหากต้องการเรียนเป็นสัตวแพทย์หรือสัตวแพทย์รักษาสัตว์ป่า นอกจากจะต้องเป็นคนที่รักสัตว์แล้วควรต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์ด้วย ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีเนื้อหาบรรจุอยู่ในหลักสูตรเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชีววิทยา (ชั้นม. 6 เล่ม 5-6)

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร/สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์