Pet Parent โตแรง “คลินิก-รพ.สัตว์” ผุดกว่า 500 แห่ง สัตวแพทย์ขาดแคลน

14 ก.ค. 2566 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2566 | 13:06 น.
1.4 k

เทรนด์ Pet Parent ปลุกตลาดสินค้า-บริการสัตว์เลี้ยงโตก้าวกระโดด คาดปี 69 มูลค่าตลาดรวมทะลุ 6.6 หมื่นล้าน ปีเดียวคลินิก-โรงพยาบาลสัตว์แห่เกิดใหม่กว่า 500 แห่ง ทำสัตวแพทย์ขาดแคลน

ข้อมูลจากงานวิจัย Petsumer Marketing เจาะลึกอินไซต์ โดนใจทาสสายเปย์ โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ระบุว่า ปัจจุบันตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงโตสวนกระแสโควิด-19 ทั้งในระดับตลาดโลก และตลาดในไทย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ พบว่า

ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 43,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดในไทยมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกมีมูลค่าสูงถึง 217,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ส่วนตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 66,748 ล้านบาท

Pet Parent โตแรง “คลินิก-รพ.สัตว์” ผุดกว่า 500 แห่ง สัตวแพทย์ขาดแคลน

บ่งชี้ว่าประเทศไทยเทรนด์ Pet Parent หรือ Pet Humanization เป็นตัวกระตุ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เลี้ยงกว่า 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก ขณะที่อัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะสุนัขมากที่สุด 40.4% รองลงมา คือ แมว 37.1% โดยความต้องการของผู้เลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น 3 อันดับแรกคือ

1. Pet Wellness Center บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์

2. Pet Training ฝึกนิสัยสุนัขพันธุ์ดุ คลินิกดัดนิสัยสุนัข-แมว

3. After Death Service บริการของที่ระลึกสัตว์เลี้ยงหลังเสียชีวิต

ด้านการรักษาพยาบาลของสัตว์เลี้ยงพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่กว่า 43.3% เลือกที่จะนำสัตว์ไปรักษาในคลินิกเอกชน รองลงมา 41.2% เลือกนำสัตว์เลี้ยงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เอกชน และ 9.8% เลือกรักษาในโรงพยาบาลสัตว์รัฐบาล โดยปัจจัยที่พิจารณาเลือกโรงพยาบาล คือ

Pet Parent โตแรง “คลินิก-รพ.สัตว์” ผุดกว่า 500 แห่ง สัตวแพทย์ขาดแคลน

ความเชื่อมั่นในสัตวแพทย์เป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงของคลินิก ทางด้านการรักษาของสัตว์เอ็กโซติก คลินิก เฉพาะทางยังมีไม่มากเท่าไรนัก การเติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้สินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นจำนวนมาก ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เพราะเชื่อว่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ทำให้อาร์เอส เดินหน้าขยายธุรกิจ RS pet all โดยใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 51% ใน Hato Pet Wellness Center ศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยงครบวงจร

เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการ HATO Animal Hospital โรงพยาบาลสัตว์ระดับ 5 ดาว ใจกลางกรุงเทพ 2 แห่ง และพัฒนาสินค้าในกลุ่ม HATO Vet Select ภายใต้แบรนด์ HATO ออกวางจำหน่ายกว่า 10 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์กรูมมิ่ง แอนด์ สปา และ wellness treats ขนมเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย

ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเปิด “PET ALL MY LOVE” เพ็ทช้อป แฟลกชิปสโตร์แห่งแรก ย่านใจกลางเมืองบนถนนลาดพร้าว จำหน่ายสินค้า และให้บริการอาบน้ำ-ตัดขนสุนัขและแมวซึ่งมีจุดเด่นที่การแยกพื้นที่ในการให้บริการสุนัขและแมวออกจากกันอย่างชัดเจน รวมถึงมีสัตวแพทย์ประจำสาขาเพื่อตรวจอาการเบื้องต้นและให้คำแนะนำในการใช้ยาในโซนขายยาสำหรับสัตว์เลี้ยง ใช้งบลงทุน 10-15 ล้านบาท/สาขา และมีแผนจะขยายเพิ่มให้ครบ 10 สาขาภายในสิ้นปี ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

Pet Parent โตแรง “คลินิก-รพ.สัตว์” ผุดกว่า 500 แห่ง สัตวแพทย์ขาดแคลน

ด้านสพ.ญ. ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์” ​​ กล่าวว่า เมกะเทรนด์ที่มาแรงในปัจจุบันคือ “Pet Humanization” สืบเนื่องจากคนมีลูกน้อยลงหรือมีลูกช้าลง ทำให้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ด้วยกระแสดังกล่าวทำให้การดูแลสัตว์รวมทั้งการรักษาต่างๆเปลี่ยนแปลงไปจากการดูแล-รักษาปกติ ปัจจุบันมีเรื่องของการวินิจฉัยและเทคโนโลยีของการผ่าตัดที่ Advance เพิ่มมากขึ้นเทียบเคียงกับการรักษาของคน

โรงพยาบาลสัตว์จึงเล็งเห็นความต้องการทางด้านการรักษาสัตว์เลี้ยงที่ Advance มากขึ้นจึงมีแนวคิดปรับการรักษาของคนในสัตว์เลี้ยงและก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นมา โดยสาขาแรกอยู่ที่หลังสวน ซึ่งเป็นหนึ่งใน Prime area และเป็นโลเคชั่นที่มีคนเลี้ยงสัตว์ คนค่อนข้างเยอะ พร้อมกับวางโพสิชั่นนิ่งของการรักษาสัตว์เลี้ยงในระดับ Advance medical Center โดยมีใช้เครื่องมือในการรักษาค่อนข้างทันสมัย รวมทั้งทีมสัตว์แพทย์ที่มีประสบการณ์รักษาในแต่ละด้านในบริการการรักษา

“ปัจจุบันคนรักสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยคนเลี้ยงก็ต้องการรักษาให้หาย ขณะที่เทคโนโลยีการรักษาของคน Advance มากขึ้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นลูกต้องการวิวัฒนาการการรักษาสัตว์เลี้ยงที่เทียบเคียงกับคนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในแง่ของทางการรักษาสัตว์เลี้ยงปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาที่เทียบเคียงการรักษาคนอยู่จริง เพียงแต่เป็นที่รู้จักในวงแคบด้วยข้อจำกัดของราคาค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง

Pet Parent โตแรง “คลินิก-รพ.สัตว์” ผุดกว่า 500 แห่ง สัตวแพทย์ขาดแคลน

ดังนั้นเราคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างโรงพยาบาลที่สามารถรักษาสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจรอยู่กลางเมืองน่าจะเป็นโอกาสและทำให้สัตว์เลี้ยงเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเราเลือก Prime area เช่นทองหล่อ หรือหลังสวน เป็นพื้นที่นำร่อง โดยจะเปิดบริการสาขาหลังสวนเป็นสาขาแรกบนพื้นที่ประมาณ 750 ตารางเมตรทั้งหมด 4 ชั้น

ด้วยงบราว 40 ล้านแบ่งเป็นงบสำหรับรีโนเวท 20 ล้านบาทและงบสำหรับลงทุนเครื่องมือแพทย์ 20 ล้านบาท มีหมอ full Time และ Part Time เบื้องต้นรับสุนัขและแมวเป็นหลัก แต่สัตว์ Exotic ก็สามารถรับได้ แต่ในย่านนี้คนจะเลี้ยงแมวกับสุนัขค่อนข้างเยอะเพราะว่าเป็นโซนคอนโดและในระยะ 5-7 กิโลเมตรของบริเวณหลังสวน ไม่มีโรงพยาบาลสัตว์เลย”

นอกจากนี้ยังมีแผนเปิด “โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์” สาขาทองหล่อซึ่งเป็นทั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทและเป็นแฟลกชิปของโรงพยาบาลบนพื้นที่กว่า 1.5 ไร่ ซึ่งมีทั้งสิ่งก่อสร้าง บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเบื้องต้นวางงบลงทุนสำหรับสิ่งก่อสร้างกว่า 100 ล้านบาท และงบสำหรับลงทุนในเครื่องมือราว 30-40 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดบริการเฟสแรกหรือตึกด้านหน้าซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ร้านอาหารชั้น 1

ส่วนชั้น 2 เป็น grooming แยกแมวกับสุนัขออกจากกันส่วนชั้น 3 จะเป็นโรงแรมแมว ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ส่วนเฟส 2 จะเป็นโรงพยาบาลที่ถูกออกแบบให้เหมือนกับโรงพยาบาลของคนจำนวน 20 ห้องตรวจ รวมทั้งโซน community ทั้งสระว่ายน้ำ และพื้นที่สวนคาดว่าจะสามารถเปิดบริการครบทุกเฟสได้ในกลางปี 2567

“แม้ว่าผู้เลี้ยงให้ความสำคัญกับการรักษาสัตว์เลี้ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่พบว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนสัตวแพทย์ ไม่เพียงพอกับความต้องการ และส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จากข้อมูลจำนวนคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ที่ลงทะเบียนในระบบปีที่ผ่านมาพบว่ามีอยู่ราว 2,800 แห่ง แต่ปีนี้มีการจดทะเบียนเพิ่มมากกว่า 500 แห่งทำให้จำนวนคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์พุ่งขึ้นไปถึง 3,500 แห่ง สิ่งที่ตามมาคือทุกโรงพยาบาลทุกคลินิกต้องการตัวสัตวแพทย์”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,904 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566