ทำความรู้จัก "สารไกลโฟเซต" สารอันตรายที่ถูกลักลอบนำเข้า

28 ก.ค. 2566 | 17:17 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 17:32 น.

ทำความรู้จัก "สารไกลโฟเซต" สารเคมีกำจัดวัชพืชที่คนไทย นิยมใช้มากที่สุด สารเคมีอันตรายที่ถูกลักลอบนำเข้า สาเหตุก่อมะเร็ง ทำลายร่างกายทุกระบบ

จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร  ได้ตรวจค้นจับกุมบริษัทแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี ที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ พบการลักลอบนำเข้าสารไกลโฟเซตโดยสำแดงเอกสารเท็จ จำนวน 721 ถัง ถังละ 200 ลิตร ปริมาณรวมทั้งสิ้น 144,200 ลิตร ซึ่งสารไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ห้ามนำเข้า และครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 

"สารไกลโฟเซต" เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่คนไทย นิยมใช้มากที่สุด (สำนักควบคุมพืชและวัสดุ การเกษตร, 2560) เนื่องจากมีฤทธิ์ดูดซึมและเข้าไปทำลายบริเวณรากของวัชพืช จึงทำให้เป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกร สารไกลโฟเซตบริสุทธิ์ มีความเป็นพิษ (Toxicity) ต่ำ แต่ส่วนใหญ่มักมีการผสมสารอื่นเข้าไปด้วย เช่นสารลดแรงตึงผิวต่างๆ ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เกิด ความเป็นพิษของผู้ใช้ไกลโฟเซตมากขึ้น 

สารไกลโฟเซต ลักลอบนำเข้า

ข้อมูลทางด้านพิษวิทยา พบว่า มนุษย์สามารถรับสารไกลโฟเซตเข้าสู่ร่างกายได้โดย การสัมผัสด้วยมือ เข้าตา หรือ สูดหายใจระหว่างการใช้งาน และอาจกลืนสารโดยไม่ตั้งใจ เพราะไม่ได้ ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร ซึ่งร่างกายมนุษย์สามารถขับสารไกลโฟเซตออกทางปัสสาวะได้ แต่หากได้รับสารไกลโฟเซตในปริมาณมากๆ หรือการได้รับพิษสะสมมากๆ ก็สามารถทำลายร่างกายแบบองค์รวมได้

"สารไกลโฟเซต" ได้ถูกประกาศโดยองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer - IARC) ในปี 2015  ให้อยู่ในกลุ่มสารเคมีที่อาจก่อมะเร็ง สารกลุ่ม 2A หมายถึงน่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์

ไกลโฟเซต

ทั้งนี้ ในประเทศไทย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 

สำหรับมาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต กำหนดให้ผู้ขายสารไกลโฟเซต ต้องได้รับใบอนุญาตขาย ซึ่งใบอนุญาตขายมีอายุ 1ปี และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 1ปี โดยขออนุญาตจากหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ 

  • สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด 
  • กลุ่มควบคุมวัตถุอันตรายสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 

หรือยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ควบคุมการขายต้องผ่านการอบรมทุกๆ 3ปี 

มาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต

ผู้ขายสารไกลโฟเซต ต้องขายให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และผ่านการอบรมเท่านั้นโดยปริมาณการขายขึ้นกับพืชและพื้นที่เพราะปลูก แล้วต้องแจ้งปริมาณการขายให้กรมวิชาการเกษตรทราบในวันถัดจากวันที่ขายสารไกลโฟเซต ให้แก่เกษตรกร

นอกจากนั้นต้องมีการจัดแยกสารไกลโฟเซตออกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่น และจัดทำป้ายวัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

สำหรับผู้ฝ่าฝืนนำเข้าสารไกลโฟเซตโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากความผิดฐานนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และความผิดตามมาตรา 45 (1) ประกอบ มาตรา 47 (1) (5) นำเข้าและครอบครองวัตถุอันตรายปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร