“ไกลโฟเซต” ส่องอนาคตสารจำกัดการใช้ปี 2566

11 ก.พ. 2566 | 18:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 19:25 น.
560

ไขความจริง “ไกลโฟเซต” ขาดตลาด-ราคาแพงขึ้น จริงหรือไม่ “มนัญญา” ยิงหมัดตรง ลงพบเกษตรกร 77 จังหวัด ยังไม่เคยมีใครร้องว่าขาดตลาด ส่วนราคาจะสูง-ต่ำ ขึ้นจากบริษัทนำเข้า ด้านเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ร้อง กมธ.เกษตร วุฒิสภา ช่วยปลดล็อกให้ทันใช้ช่วงก่อนเพาะปลูก

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เรื่องการเปิดโควตานำเข้า ไกลโฟเซต  อยากจะชี้แจงว่า ในปี 2565 บริษัทที่ได้รับอนุญาตยังนำเข้า "ไกลโฟเซต" ยังเข้ามาไม่ครบเลย ดังนั้นเห็นว่าปริมาณการใช้ไม่ได้มาก ความจริงแล้วราคาไกลโฟเซต  จะราคาสูง หรือ ราคาต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำเข้า  แต่ไม่ใช่ราคาสูง มาโทษว่าไม่เปิดโควตาให้นำเข้า ไม่ใช่เลย

 

“สารไกลโฟเซต เปิดโควตาให้อยู่แล้ว และอยากแจ้งให้ทุกคนได้ทราบว่าปีที่แล้วที่เปิดให้นำเข้า ยังเข้ามาไม่ครบเลย และความต้องการเป็นการพูดกันเฉยๆ แต่ไม่ได้ดูจากเรื่องจริง และเราก็เปิดโอกาสอยู่แล้วสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะเข้ามาพบ และการส่งหนังสือร้องเรียนไปที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง หรือที่ไปร้องที่ต่างๆ  ไปถูกจุดไหม แต่ถ้าให้ถูกจุดต้องมานี่ มาที่รัฐมนตรี ต้องมาคุยกันมาดูเหตุผล”

 

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า  แต่จะให้ตอบหนังสือไปมา รวมทั้งการไปร้องเรียนไปฟ้องศาล ไปไม่ถูกทาง แล้วความจริงข้าราชการกรมวิชาการเกษตรก็มีงานเยอะ วันหนึ่งจะมานั่งรับโทรศัพท์ ตอบหนังสือ ซึ่งการตอบไปมาก็เลยคิดว่าจะมานั่งเปิดอกคุยกันดีกว่า

 

“ความจริงเจ้าของบริษัทผู้นำเข้าไม่มีปัญหา ตนก็ลงไปไปหาเกษตรกรหลายพันคนมากกว่าคนที่ไปร้องอีก ซึ่งก็ยังไม่เคยเจอเกษตรกรคนไหนมาร้องว่า “ไกลโฟเซต” ขาด ยังไม่มีคนพูดเลย”

 

 

“ไกลโฟเซต” ส่องอนาคตสารจำกัดการใช้ปี 2566

 

ด้าน นางสาว อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ล่าสุด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ไปยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกร กรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรกรรม ตนได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรทั่วประเทศ ในตอนนี้ของไม่มีในตลาดเลย ราคาก็ปรับสูงขึ้นจาก 400 บาท/แกลลอน

 

" จากการตรวจสอบข้อมูล การนำเข้าไกลโฟเซต ในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้ออกใบอนุญาต จำนวน 23,044.70 ตัน พบว่าผู้ประกอบการมีการนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซต จำนวน 17,785.92 ตัน ยังไม่ได้มีการนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซต จำนวน 5,258.78 ตัน เพราะว่ากรมวิชาการเกษตรออกใบอนุญาตเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีกำหนดเวลานำเข้าไม่เกินเดือนสิงหาสคม ซึ่งกระบวนการในการสั่งสินค้า-การผลิต และการนำเข้า ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 45-60 วัน ทำให้ทุกบริษัทต้องสั่งสินค้าพร้อมกัน ประเทศปลายทางผลิตสินค้าไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถนำเข้าไกลโฟเซตได้จึงทำให้ราคาสูง กว่าจะนำเข้ามาได้ก็เลยฤดูการใช้งานของเกษตรกร"

 

นางสาว อัญชุลี  กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังบริษัท พบว่าหลายบริษัท นำเข้าไม่ทัน จึงได้มีการต่อใบอนุญาตอีก 6 เดือน คือ เดือนสิงหาคม-เดือนมกราคม แต่บริษัทที่นำเข้ามาในช่วงแรกก็นำเข้ามาจนครบแล้วไม่สามารถนำเข้ามาได้อีก เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรไม่ออกใบอนุญาตกำหนดปริมาณนำเข้า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย  อาทิ  ในข้อที่ 1 ประกาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เป็นการจำกัดการใช้ในพืช 6 ชนิด แต่ไม่ใช่จำกัดปริมาณการนำเข้า และไม่ใช่การจำกัดใบอนุญาต เป็นต้น