อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง โควตานำเข้าไกลโฟเซต ปี 2565

30 ส.ค. 2565 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2565 | 19:25 น.
673

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง เปิดโควตานำเข้าไกลโฟเซต ปี 2565 จำนวน 2.2 หมื่นตัน แต่บริษัทนำเข้าได้ 1.1 หมื่นตัน ไม่ทราบเหตุผล ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจแต่ละบริษัทได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือไม่ ด้านสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยปีนี้มีฝนตกหนัก ทำให้โรคพืชน้อย อัตราการใช้น้อยลง

สืบเนื่องจาก ทาง เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกรณีขาดแคลนสารไกโฟเชตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยในปี 2565 กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดนำเข้าโควตาไกลโฟเซต จำนวน 24,000 ตัน แต่ปรากฏว่า ให้นำเข้า 11,000 ตัน  แล้วอีก 1.3 หมื่นตันหายไปไหน นั้น

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง โควตานำเข้าไกลโฟเซต ปี 2565

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยืนยันว่าการให้ข้อมูลดังกล่าว เป็น “Fake news”   กรมวิชาการเกษตรได้มีการชี้แจงคณะอนุกรรมาธิการปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ถึงจำนวนพื้นที่หลักเกณฑ์การพิจารณาการนำเข้าไกลโฟเซตปี 2563 – 2564  พิจารณาจากผู้ขอนำเข้า แต่ละรายตามชนิดพืชที่ขึ้นทะเบียนที่ระบุในฉลาก และพื้นที่ปลูก ของเกษตรกรที่ผ่านการอบรม โดยคำนวณจากอัตราการใช้และจำนวนครั้งของการใช้ในพืชแต่ละชนิดตามช่วงเวลาที่กำหนด ได้แก่ ข้าวโพด จำนวน 5,561,112 ไร่  มันสำปะหลัง จำนวน 3,008,309 ไร่

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง โควตานำเข้าไกลโฟเซต ปี 2565

 

อ้อย จำนวน 2,338,362 ไร่  ปาล์มน้ำมัน จำนวน 1,891,078 ไร่  ไม้ผล จำนวน 1,891,078 ไร่  และยางพารา จำนวน 106,758ไร่ รวมพื้นที่ปลูก จำนวนทั้งสิ้น 14,715,799  ไร่  และกำหนดปริมาณการนำเข้าในแต่ละบริษัท พิจารณาโดยกำหนดให้ผู้ยื่นขออนุญาตนำเข้าไกลโฟเซตต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซตกับพืชที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562

 

 

นายระพีภัทร์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในการอบรมเกษตรกรให้มีความรู้ในการใช้วัตถุอันตราย มีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจำนวน 475,293  ราย ผู้รับจ้างพ่น 13,993 ราย  ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับพืชทั้ง 6 ชนิด สามารถเข้าอบรมและทดสอบความรู้ผู้ใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซตได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร www. doa.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

 

 

สามารถเลือกศูนย์การทดสอบความรู้ได้จากหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 จำนวน 8 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 54  แห่ง ทั่วประเทศ โดยแต่ละศูนย์จะเปิดทดสอบความรู้เดือนละ 2 ครั้ง ในวันแรกของสัปดาห์ที่ 1  และสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน โดยจะมีการทดสอบความรู้ วันละ 4 รอบ/วัน ในแต่ละรอบนั้นสามารถรองรับการเข้าทดสอบความรู้ได้ครั้งละ 25 คน

 

ส่วนในปี 2564 กรมวิชาการเกษตรได้มีออกใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซตไปแล้วจำนวน 12,711 ตัน แต่ในเดือนมกราคม 2565 ถึง ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้ออกใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซตจำนวน 23,044 ตัน ซึ่งปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้าไกลโฟเซตในปี 2565  นั้น มีปริมาณเป็น 2 เท่าของปี 2564  แต่ข้อมูลในปี 2565 ผู้ประกอบการมีการนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซตจริงจำนวน 11,976 ตัน เท่านั้น

 

 

“สำหรับ การนำเข้าจริงก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ก็คงเป็นเพราะที่กรมวิชาการเกษตรได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารทดแทนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ได้แก่ข้อมูลผลการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการวัชพืช การใช้แรงงานและการใช้เครื่องจักรกล และการใช้หลายๆวิธีผสมกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศัตรูพืชเฉลี่ยต่อไร่ของแต่ละวิธี เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรใช้เป็นวิธีการจัดการวัชพืชได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม"

 

 

จารึก ศรีพุทธชาติ

 

สอดคล้องกับนายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ยอดของแต่ละบริษัทนำเข้าทีได้จัดสรรโควตาไม่เท่ากัน ในยอดรวมของปริมาณที่นำเข้า แต่คนที่ได้นำเข้าน้อย อย่างบริษัทผมที่ได้รับก็นำเข้าตามเกณฑ์ที่ได้รับ ส่วนบริษัทที่ได้รับจัดสรรเยอะเท่าที่ทราบก็อาจจะแบ่งนำเข้ามา เพราะมีราคาในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน เพราะราคาจีนมีความผันผวน การขนส่ง หากนำเข้ามาในช่วงราคาแพงขายไม่ได้ก็ขาดทุน ก็ต้องดูจังหวะ ทุกคนมีวิธีการนำเข้าอย่างไรไม่ทราบ แต่มีการนำเข้าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของบริษัท

 

“การใช้สารเคมีในปีนี้ จะเห็นว่าฝนตกหนัก จะมีปัญหาวัชพืชก็มีบ้าง ในช่วงที่ฝนน้อยลง ตราบใดที่มีความชื้นวัชพืชต้องมี แมลงก็จะน้อยเพราะว่าฝนตกมาก ก็จะชะล้างโดยธรรมชาติด้วยกันเอง การใช้ก็จะน้อยลง แล้วที่สำคัญขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตด้วยว่าผลผลิตดีเกษตรกรก็กล้าลงทุน แต่ถ้าราคาไม่ดีอย่างมะม่วง เกษตรกรก็ไม่กล้าลงทุน จึงมีโรคพวกเชื้อราคาเยอะพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจึงให้ความสำคัญกับปุ๋ยมากกว่า เพราะจำเป็นต้องใช้ แต่สารเคมีจะใช้ก็ต้องระบาดหรือเป็นโรคก่อน ไม่อยากซื้อมากักตุนเอาไว้ เป็นจังหวะการใช้มากกว่า อาจจะนำเงินไปลงทุนซื้อสิ่งที่จำเป็นมากกว่า แนวโน้มการใช้สารเคมีในปีนี้ไม่มากกกว่าปีที่แล้ว”