กักขังแทนค่าปรับคืออะไร หลัง ครม.มีมติออกคำสั่งยกเลิกแล้ว

10 ก.ค. 2566 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 06:45 น.
5.0 k

กักขังแทนค่าปรับคืออะไร หลัง ครม.มีมติสั่งยกเลิก ใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับ เพื่อแก้ปัญหา “คุกมีไว้ขังคนจน” สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน เตรียมชงเรื่องให้กฤษฏีกาแก้ไข

จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม  ที่ผ่านมา เห็นสมควรให้พิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน

กักขังแทนค่าปรับคืออะไร

กักขังแทนค่าปรับ   เป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษปรับเป็นการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ แต่การกักขังเป็นการบังคับเอาแก่เสรีภาพของผู้ต้องโทษ จึงไม่อาจทดแทนกันได้ และหากมีการลงโทษปรับก็มีมาตรการรองรับ เพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ รวมทั้งการทำงานบริการสังคมอยู่แล้ว

การกักขังแทนค่าปรับเป็นมาตรการหนึ่งในการบังคับคดีโทษปรับ ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับ ไม่มีความสามารถทางเศรษฐกิจในการชำระค่าปรับจึงต้องถูกกักขังแทนจากจำนวนค่าปรับที่ต้องชำระ จนหมดสิ้นแต่ไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

กักขังแทนค่าปรับ

 

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. เคยได้หารือถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีมาตรการกักขังแทนค่าปรับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. .... 

  • ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... 
  • ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ....
  • สำหรับกฎหมายลำดับรองทั้ง 3 ฉบับจะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง โดยเฉพาะการลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต.