พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม -ภัยแล้งในไทย มีจุดใดจังหวัดไหนบ้าง เช็คที่นี่

05 ก.ค. 2566 | 07:40 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม -น้ำแล้งล่วงหน้า เช็คเลยมีพื้นที่ใด พิกัดจังหวัดไหนบ้าง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP พบว่าในเดือน ก.ค. 66  มีพื้นที่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และ ยังคงมีพื้นที่ซึ่งเป็นแนวรับลมที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก ซึ่งจะมีพื้นที่เสียงน้ำท่วมที่ไหนบ้าง - น้ำแล้งจุดใด สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังต่อไปนี้

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณชายขอบของประเทศ ได้แก่ 

  • พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ใน จ.เชียงราย จ.พะเยาและน่าน 
  • พื้นที่บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
  • พื้นที่ภาคกลาง ใน จ.เพชรบูรณ์ บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก 
  • พื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ระนอง ลงไป 

พื้นที่เสี่ยงแล้ง 

  • จ.จันทบุรีและเพชรบุรี

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 25% ซึ่งที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยฝนจะตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ รวม 40,808 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 50% ของความจุรวมทั้งหมด ในปริมาณนี้เป็นน้ำใช้การ 16,698 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29% ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้ำนับจากช่วงต้นฤดูฝนไปแล้วประมาณ 10% โดยภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในขณะนี้

 


ส่วนการจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ให้แก่พื้นที่ต่าง ๆ มีการจัดสรรแล้ว รวม 6,604 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 42% ของแผนทั้งหมด โดยภาคที่มีการจัดสรรน้ำมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ โดยจัดสรรไปแล้ว 54% ของแผน 

 

ทั้งนี้ กอนช. ได้จำลองปริมาณน้ำจาก ปี 62 เพื่อใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การของอ่างฯ ขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การ 26,071 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 55% ซึ่งน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่ จำนวน 21 แห่ง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงน้ำน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคตะวันตก 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง 

 

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การล่วงหน้าในปี 67 พบว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย. 67 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 12,162 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 26% และ ณ วันที่ 1 ก.ค. 67 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 11,646 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 25% ซึ่งลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งจากวันที่ 1 พ.ย. 66

 

คาดการณ์อ่างเก็บน้ำช่วงปี 2566 ถึง 2567

นายฐนโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวที่มีการประเมิน ทำให้มีความจำเป็นจะต้องติดตามเฝ้าระวังการใช้น้ำ รวมทั้งต้องติดตามในเรื่องแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องระบายน้ำให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และใช้เสริมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เพื่อให้มีน้ำสำรองกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในอ่างฯ ขนาดใหญ่ให้ได้มากที่สุด

 

"การจัดสรรน้ำในเกณฑ์ปริมาณน้ำน้อยจะส่งผลให้ระดับน้ำในคลองต่าง ๆ น้อยตามไปด้วย จึงต้องมีการจัดรอบเวรการรับน้ำ โดยแบ่งออกเป็น ต้นคลอง กลางคลอง และปลายคลอง เพื่อให้สามารถกระจายน้ำให้แก่ทุกพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ซึ่งมีการจัดรอบเวรการส่งน้ำโดยกรมชลประทานแล้ว ได้แก่ คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.สุพรรณบุรี และคลองชัยนาท-ป่าสัก "

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังได้ประสานไปยังกรมชลประทาน พิจารณาปรับการจัดสรรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของคลองบางตาเถร จ.สุพรรณบุรี ประกอบกับมีฝนตกเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว 

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ