กทม.เปิดแผนรับมือน้ำท่วม -ภัยแล้ง ปี 2566

23 มิ.ย. 2566 | 20:18 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 20:23 น.

กรุงเทพมหานคร กางแผนรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมรายงานสถานการณ์-การแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมกรุงในแต่ละจุดดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ภาพรวมการรับมือน้ำท่วมถือว่าพร้อม ส่วนการเตรียมการรับมือภัยแล้ง ปัจจุบันมีฝายดักน้ำ 17 แห่ง ที่จะช่วยซัพพอร์ตชาวเกษตรกร

 

"การระบายน้ำไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำเพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน ขอให้ทุกท่านร่วมมือกันในปีนี้เพื่อคนกรุงเทพฯ" 

 

สำหรับภาพรวมการรับมือปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงความคืบหน้าในการแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังนี้ 

ภาพรวมปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

  • จากการถอดบทเรียน รวม 737 จุด (จากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด จากน้ำฝน 617 จุด) การแก้ไขปัญหาจากน้ำเหนือน้ำหนุน จำนวน 120 จุด เสร็จทันน้ำเหนือน้ำหนุนนี้ 29 จุด เสร็จไม่ทันน้ำเหนือน้ำหนุนนี้ 41 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 31 จุด และอยู่ระหว่างประสานเอกชนและหน่วยงานราชการ 19 จุด

 

  • ในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนจากน้ำเหนือน้ำหนุน ได้แก่ เรียงกระสอบทราบ 69 จุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 จุด สร้างรางระบายน้ำ 1 จุด JET MIX 18 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 1 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ+JET MIX 1 จุด

 

การแก้ไขปัญหาจากน้ำฝน

  • จำนวน 617 จุด  แก้ไขโดยสำนักการระบายน้ำ 144 จุด เสร็จทันฝนนี้ 61 จุด เสร็จไม่ทันฝนนี้ 40 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 43 จุด แก้ไขโดยสำนักงานเขต 473 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 21 จุด ได้รับงบแล้ว 79 จุด ขอจัดสรรงบประมาณ 69 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการระบายน้ำ 68 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการโยธา 3 จุด ถนนส่วนบุคคล 24 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 209 จุด 

ในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนจากน้ำฝน โดยสำนักการระบายน้ำกับสำนักงานเขต

  • ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 224 จุด ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 165 จุด เรียงกระสอบทราย 97 จุด ขุดลอกคลอง 17 จุด เสริมผิวจราจร 24 จุด

การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมของสำนักการระบายน้ำและ 6 กลุ่มเขต ประกอบด้วย

  • การควบคุมระดับน้ำในคลอง ขุดลอกคลอง 182 คลอง 203 กิโลเมตร (82%) เปิดทางน้ำไหล 1,404 คลอง 1,518 กิโลเมตร (77%) 
  • ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,758 กิโลเมตร (73%)
  • ล้างท่อหน้าตลาด (รอบที่ 1) 157 ตลาด (62%) 
  • เตรียมความพร้อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 14 จุด 
  • รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 คัน
  • เครื่องสูบน้ำไฮโดรลิก 46 เครื่อง 
  • เครื่องสูบน้ำหางอ่อน 17 เครื่อง 
  • อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง 
  • แก้มลิง 32 แห่ง 
  • Water Bank 4 แห่ง 
  • สถานีสูบน้ำ 188 แห่ง 
  • บ่อสูบน้ำ 324 แห่ง 
  • เครื่องผลักดันน้ำ 55 เครื่อง
  • หน่วย BEST 35 หน่วย
     

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาและสถานการณ์ฝนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขสถานการณ์ มีเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ 2 แห่ง ที่หนองแขม และหนองจอก มีจุดตรวจวัดน้ำท่วม ดังนี้

  • จุดตรวจวัดถนน 100 แห่ง 
  • จุดตรวจวัดอุโมงค์ทางลอดรถ 8 แห่ง 
  • สถานีเครือข่ายตรวจวัดระดับน้ำ 255 แห่ง 
  • และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่อเนื่อง ทั้งจังหวัดปริมณฑล (ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ) การไฟฟ้านครหลวง และกรมชลประทาน

นอกจากนั้นแล้วยังได้สั่งการไปยัง 11 หน่วยงานของกทม. ดังนี้
1. สำนักงบประมาณ ให้สนับสนุนการจัดหากระสอบทรายและสนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
 2. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้เตรียมการอำนวยความสะดวกประชาชน สนับสนุนเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ จัดหน่วยซับน้ำสนับสนุนพื้นที่ลุ่มต่ำของสำนักงานเขต 
3. สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้ออกปฏิบัติงานเมื่อฝนตก ผู้อำนวยการเขตสั่งการแก้ไขปัญหา พร้อมรายงานสถานการณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
4. สำนักงานประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร วิเคราะห์ผลกระทบจากความคิดเห็นของประชาชน นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ 
5. สำนักการจราจรและขนส่ง ให้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและสถานการณ์น้ำบนป้ายจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนกล้อง CCTV และตรวจสอบความพร้อมของระบบวิทยุ TRUNK RADIO 
6. สำนักอนามัย ให้บริการแนะนำด้านสุขภาพอนามัยและวิธีป้องกันโรคแก่ประชาชน 
7. สำนักการโยธา ให้ตรวจสอบงานก่อสร้างสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า อาคารสูง ป้ายโฆษณา จัดหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วน (Best Service) พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ 
8. สำนักการคลัง (กองโรงงานช่างกล) ให้บริการช่วยเหลือประชาชนกรณีรถยนต์ขัดข้อง จัดรถยก รถลากจูง อำนวยความสะดวกในการจราจร 
9. สำนักการระบายน้ำ ให้แจ้งจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยง ระดับน้ำในคลองตามแผน  เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ และรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ 
10. สำนักเทศกิจ ให้ประสานแจ้งสภาพอากาศให้แก่สำนักงานเขต จัดรถสายตรวจและลงพื้นที่ จัดเตรียมรายชื่อผู้ติดต่อประสานงานพร้อมเบอร์โทรศัพท์กรณีฉุกเฉิน 
11. สำนักสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการรณรงค์การงดทิ้งขยะลงพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ท่อระบายน้ำ เป็นต้น


นายวิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมกันในวันนี้ มีการถอดบทเรียนน้ำท่วมในจุดต่างๆของปีที่ผ่านมา จำนวน 737 จุดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ให้แต่ละเขตเข้าใจว่ามีความพร้อมขนาดไหน ขาดสิ่งใดบ้าง จะให้ส่วนกลางทำงานบูรณาการร่วมกันในการเตรียมความพร้อมก่อนที่ฝนจะมา รวมทั้งติดตามข้อสั่งการ ความคืบหน้าของจุดเสี่ยงทั้ง 737 จุด ว่าเขตเตรียมความพร้อมถึงไหนแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าจุดเสี่ยงน้ำท่วมปีนี้ต้องดีขึ้นกว่าเดิม 

 

นอกจากนั้นแล้วยังเตรียมซักซ้อมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น บทบาทแต่ละหน่วยงานต้องทำอย่างไร สำหรับเขื่อนกั้นน้ำอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะนี้ได้ตีเขื่อนทั้งหมดแล้ว เหลือแค่ลงถุงซีเมนต์เพื่อเติมในช่องว่าง แต่คาดว่าทุกจุดจะแล้วเสร็จทันน้ำเหนือน้ำหนุนที่จะมาช่วงปลายเดือน ต.ค. - ต้นเดือน พ.ย. นี้ ส่วนจุดที่เป็นฟันหลอ ปัจจุบันเรารู้ว่าจุดอ่อนจากจุดฟันหลออยู่ตรงไหน จึงได้เตรียมกระสอบทรายและเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

 

ส่วนจุดอ่อนที่มีน้ำท่วมเป็นประจำ เช่น บริเวณพัฒนาการ สวนหลวง ประเวศ ได้ดำเนินการแก้ไขหลายจุด อาทิ หมู่บ้านเมืองทองการ์เด้นส์ได้ประสานกับทางนิติฯ หมู่บ้าน ว่า ต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างไร และกทม.จะช่วยรอบนอกอย่างไร หรือบริเวณทางลงมอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดลุ่มต่ำ ได้ประสาน รฟม. แจ้งผู้รับจ้างเสริมผิวจราจรให้สูงขึ้น และบริเวณวงเวียนหลักสี่ ได้ทำรางกัตเตอร์ระบายน้ำ เพิ่มแก้มลิงบ่อพักน้ำ และเพิ่มกำลังสูบของปั๊ม โดยในภาพรวมถือว่ามีความพร้อม คาดว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะดีขึ้น 

 

นอกจากนี้ได้มีการหารือเรื่องภัยแล้ง เนื่องจากปีนี้คาดการณ์ว่าฝนน้อยลง ดังนั้นต้องเตรียมการให้สมดุลกันระหว่างการพร่องน้ำกับการเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขตรอบนอกที่มีการเกษตรอยู่ โดยกทม.ได้มีการจัดทำฝายดักน้ำ 17 แห่ง เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

นายวิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้รายงานถึงปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งเป็นสภาวะปัจจุบันและจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ส่งผลให้อุณหภูมิของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ปีนี้คาดการณ์ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 358 มิลลิเมตร 
 

กทม.เปิดแผนรับมือน้ำท่วม -ภัยแล้ง