รู้จัก “คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ” หลังยูเนสโก รับรองมรดกความทรงจำโลก

20 พ.ค. 2566 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 14:21 น.
849

ทำรู้จัก “คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ” ภายหลังจากองค์การยูเนสโก กรุงปารีส ได้พิจารณาวาระการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกใหม่ ของประเทศไทย ถือว่าเป็นเอกสารโบราณสำคัญของชาติ

การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์การอื่นๆ  ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก ซึ่งรวมถึงคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ (National Collection of Palm-Leaf Manuscripts of Phra That Phanom Chronicle)

 

“คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกใหม่ ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

 

รู้จัก คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ จัดเป็นเอกสารโบราณสำคัญ เป็นของแท้ดั้งเดิมที่มีเพียงคัมภีร์เดียว เนื้อหาจัดเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาฉบับพื้นถิ่นภาคอีสานที่ใช้สำนวนภาษาเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค 

เป็นหนังสือใบลานจารด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี ที่มีทำนองการแต่งเป็นภาษาโบราณแบบเฉพาะของท้องถิ่น มีความไพเราะ แทรกคติธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี มีการใช้คำเป็นสำนวนภาษาให้เห็นภาพพจน์ ทำนองเปรียบเทียบ มีจำนวน 7 ผูก มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้ายกล่าวไว้ชัดเจนว่าหนังสือฉบับนี้อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405

อีกทั้งรูปอักษรธรรมอีสานนี้ ใช้จารเรื่องในคัมภีร์ก็เป็นอักษรโบราณที่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว สภาพทั่วไปแข็งแรง เส้นอักษรยังเห็นได้ชัดเจน เนื้อเรื่อง เบื้องต้นเกริ่นนำด้วยนิทานตำนานเมืองต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณริมฝั่งน้ำโขง

 

“คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกใหม่ ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

สาระสำคัญของเรื่องอุรังคธาตุ

สาระสำคัญของเรื่องอยู่ที่อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ได้มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยอำนาจบารมีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ส่วนความสำคัญของเนื้อหา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของชุมชนในท้องถิ่นที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งแล้ว ยังแสดงถึงความเป็นบทประพันธ์ประเภทวรรณกรรมพื้นบ้านที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม ความเชื่อของชุมชนในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติ ความเอื้ออาทรต่อกันของคนในหมู่ชนที่ร่วมสังคมเดียวกันประดุจคนในครอบครัว 

ถือเป็นพื้นฐานอันสอดคล้องกับวัฒนธรรม อารยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่แพร่กระจายอยู่โดยรอบภูมิภาคของพื้นถิ่น ซึ่งมีการอยู่อาศัยของผู้คนตลอดบริเวณพื้นที่แถบลุ่มน้ำโขงและใกล้เคียงอย่างยั่งยืน ยาวนานไม่ขาดช่วงจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในทางการเมืองจะมีการแบ่งเขตบ้านแดนเมืองเป็นประเทศต่างๆ กันแล้วก็ตาม 

แต่ความเคารพนับถือศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา อันมีพระธาตุพนมเป็นหลักชัย ยังยืนหยัดอย่างมั่นคง หลอมรวมจิตใจชาวพุทธ สืบสานกันมาตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นชัดเจนตราบถึงทุกวันนี้

 

“คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกใหม่ ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

ไทยเสนอขึ้นทะเบียนไป 2 แต่ได้แค่ 1 

นายอรรพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า การขึ้นทะเบียนเอกสารหรือเหตุการณ์สำคัญเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก มีกระบวนการการพิจารณาโดย International Advisory Committee (IAC) และรับรองโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ในครั้งนี้

มีรายชื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมด 64 รายการ ประเทศไทยเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก รอบปี ค.ศ. 2022 – 2023 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ (IAC) และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ที่ได้พิจารณารับรองคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก อย่างไรก็ตาม หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยได้รับการแก้ไข 3 ครั้ง จึงขอให้ยูเนสโกมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องต่อไป

อ่านข้อมูลประกอบเรื่องตำนานอุรังคธาตุได้ที่ หอสมุดแห่งชาติ