รัฐเตรียมดัน “เคบายา” ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก

11 เม.ย. 2566 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2566 | 17:10 น.
1.3 k

เคบายา (Kebaya) ชุดพื้นเมืองของสตรี วัฒนธรรมการแต่งกายสตรีทางภาคใต้ของไทย รัฐบาลเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนยูเนสโก เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

เคบายา (Kebaya) เป็นชุดพื้นเมืองของสตรี “ไทย - เพอรานากัน” หรือ “ บาบ๋า – ย่าหยา” ทางภาคใต้ของไทย สตรีพื้นเมืองในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล นิยมสวมใส่ทั้งงานทางการ งานสังสรรค์ และงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ผ่านมา เคบายา ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2555 โดยมีความสอดคล้องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบเสนอชุดเสื้อเคบายา (Kebaya) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ร่วมกับประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกร่วม “เคบายา” ครั้งนี้ จะเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของไทย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกที่เป็นตัวอย่างในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

เคบายา

ในรายงานเอกสารที่ทำส่งต่อยูเนสโก มีชื่อว่า เคบายา: ความรู้ ทักษะ ประเพณีและการปฏิบัติ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลในภาพรวมเสื้อเคบายาของทุกประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยได้ระบุถึงการสืบทอด โดยถ่ายทอดทักษะในการทำเสื้อเคบายาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการนำไปใช้ในงานประเพณีพิธีกรรมและงานเทศกาล การจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย และนำเสนอความรู้ในสื่อสิ่งพิมพ์สื่อดิจิทัล รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการสงวนรักษาของชุมชน 

คุณสมบัติที่ยูเนสโกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคือ การเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การใช้ทักษะและความรู้เฉพาะด้าน และมีมาตรการสงวนรักษา โดยเคบายา (Kebaya) มักจะมีการสวมใส่ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการสวมใส่สำหรับแสดงศิลปวัฒนธรรม ต้องใช้ทักษะในการออกแบบ การเลือกและการตัดผ้า และส่วนประกอบ การตัดเย็บ การปักแบบต่างๆ 

มาตรการสงวนรักษาของไทย ได้แก่การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มีการส่งเสริมการศึกษาวิจัย และจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆเพื่อให้การสวมใส่เสื้อเคบายาอยู่ในสังคมร่วมสมัย และมีการสนับสนุนเงินทุนและการสนับสนุนเชิงเทคนิคให้กับชุมชน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้งานเสื้อเคบายา เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการรักษาวัฒนธรรมเคบายาจากรุ่นสู่รุ่น อีกด้วย

ทั้งนี้ การเสนอรายการมรดกร่วม “เคบายา” กับ 4 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกของไทย โดยที่ผ่านมาไทยได้เสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในนามของไทยเพียงประเทศเดียว และ ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว ได้แก่ โขน ในปี พ.ศ.2561 นวดไทย ในปี พ.ศ. 2562 และโนรา ในปี พ.ศ. 2564 ส่วนสงกรานต์ในไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา