กรมอุตุฯ เตือน พายุฤดูร้อน ถล่มเหนือ-กลาง-ใต้

10 พ.ค. 2566 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 13:58 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับสุดท้าย พายุฤดูร้อน กระทบไทยตอนบน เตือนภาคเหนือ กลาง ใต้ ฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำ ทวีกำลังเป็นพายุดีเปรสชัน กระทบไทยฝนตกต่อเนื่อง

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 9 เวลา 13.00 น.เรื่อง พายุฤดูร้อนกระทบไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566) โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้  ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทย 

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย 
 

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่าวเบงกอลตอนล่าง ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศและเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น 


ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

 

ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 11-16 พ.ค. 66
 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฉบับที่ 9 พายุฤดูร้อนกระทบไทยตอนบน