กรมอุตุฯแจงข่าวลือพายุเข้าไทย 2 ลูกไม่เป็นความจริง

09 พ.ค. 2566 | 13:48 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2566 | 14:01 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงข่าวลือพายุเข้าไทย 2 ลูกขนาบซ้าย-ขวา ไม่เป็นความจริง แต่เตือนผลกระทบทางอ้อมทำให้ไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง ฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูง

จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าไทย 2 ลูกเคลื่อนเข้าไทย ขนาบซ้าย -ขวา ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาชี้แจงว่า สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงวันที่ 9-15 พ.ค.66 ไม่มีพายุเข้าไทย อย่างไรก็ตามจากอิทธิพลของพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) ที่แม้ไม่เคลื่อนเข้าไทย แต่ส่งผลกระทบทางอ้อมให้มีฝนตกต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ทำให้วันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 66) จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องอยู่ในหลายพื้นที่ ภาคเหนือมีโอกาสเกิดฝนประมาณร้อยละ 60 ส่วนภาคอื่น ๆ รวมถึง กทม. และปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่

 

ขณะเดียวกันภาคใต้คลื่นลมในทะเลอันดามันจะแรงขึ้น โดยเฉพาะทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วง 9-14 พ.ค. 66 
 

นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุด พบในช่วง 1 สัปดาห์ข้างหน้า (9-15 พ.ค. 2566) นั้น ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยแต่อย่างใด เบื้องต้นพบพายุก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลเพียง 1 ลูก และไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนในทะเลจีนใต้  ยังไม่ปรากฏว่ามีพายุเกิดขึ้น เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น


"หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 2566 คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) ในวันที่ 11 พ.ค. 2566 แนวโน้มการเคลื่อนตัวจะขึ้นไปทางเหนือค่อนไปทางตะวันตกเข้าสู่บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางและอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 พ.ค. 2566 แม้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะส่งผลให้มีฝนต่อเนื่องในประเทศไทยตอนบน โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 2566 "
 

นอกจากนั้น คลื่นลมในทะเลอันดามันจะแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง ประชาชนสามารถติดตามลักษณะอากาศได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา (คลิกที่นี่) หรือ เฟซบุ๊ก“กรมอุตุนิยมวิทยา”หรือสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 

  • สายด่วน 1182 


ภาคเหนือ 

  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-277-919                            

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น โทร. 043-469-234 

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 

  • จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 045-244-299 

ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล 

  • กรมอุตุนิยมวิทยา โทร. 02-399-4012-3 

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 

  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา โทร. 074-311-760 

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก

  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต โทร. 076-327-191