"มาฆบูชา 2567" วันแสดงหลักธรรมสาม "โอวาทปาติโมกข์” หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา

24 ก.พ. 2567 | 00:12 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2567 | 00:17 น.
1.2 k

มาฆบูชา 2567 วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" หลักธรรมสามประการที่เรียกกันว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา” เป็นครั้งแรก วันมาฆบูชาปี 2567 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะมาถึง

 

คำว่า “มาฆะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน 3 ส่วนคำว่า “มาฆบูชา” นั้น ย่อมาจากคำเต็มว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3” ดังนั้น วันมาฆบูชา จึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ในปีอธิกมาส) ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” ที่แปลว่า “ความประชุมประกอบด้วยองค์ 4 นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลา 9 เดือน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งพุทธกาล เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือน 3 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นได้มีพระอรหันต์ จำนวน 1,250 รูป ซึ่งแบ่งเป็นพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระ รวม 1,000 รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ 250 รูป รวมทั้งสองคณะเป็น 1,250 รูป ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

\"มาฆบูชา 2567\" วันแสดงหลักธรรมสาม \"โอวาทปาติโมกข์” หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา

การมาประชุมใหญ่ของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในสมัยพุทธกาล จึงเรียกเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า “ความประชุมประกอบด้วยองค์ 4” ซึ่งในอรรถกถาทีฆนขสูตร ได้แสดงไว้ว่า องค์ 4 คือ พระสาวกที่มาประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต นั้นคือ

  1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ ได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันวนาราม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
  2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เหล่านั้น ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
  4. วันเพ็ญเดือนมาฆะ คือวันเพ็ญกลางเดือน 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็น“หัวใจของพระพุทธศาสนา” คือ “โอวาทปาติโมกข์” และวันมาฆบูชาในอีก 45 พรรษาต่อมา พระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ ก็ทำให้อีก 3 เดือนต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชา

พระโอวาท หรือ โอวาทปาติโมกข์ นี้ ประมวลพระพุทธวาทะ ประมวลพระพุทธศาสนา ด้วยข้อความเพียง 3 คาถากึ่ง ฉะนั้น พระโอวาทนี้จึงเป็นที่นับถือว่า แสดงหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

โอวาทปาติโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา” ประกอบด้วย

๏ สพฺพปาปสสฺ อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง

๏ กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม

๏ สจิตฺต ปริโยทปน การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

นับเป็นพระโอวาทที่แม้ผ่านกาลเวลามานับพันปีก็ยังคงทำให้ชาวพุทธทั้งหลายเกิดความสุขความเจริญได้เสมอหากนำมาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ซึ่งโดยหลักการ 3 มีดังนี้

1. ทำกุศลให้ถึงพร้อม (กรรมบถ 10)

  • ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
  • ไม่ลักทรัพย์ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  • ไม่ประพฤติผิดในกามไม่พูดเท็จ
  • ไม่พูดส่อเสียด
  • ไม่พูดหยาบคาย
  • ไม่พูดเพ้อเจ้อ
  • ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
  • มีความเมตตาปรารถนาดี
  • เข้าใจถูกต้อง
  • ตามทำนองคลองธรรม

2. ลด ละ เลิก บาปทั้งปวง  (อกุศลกรรมบถ 10)

  • ฆ่าสัตว์
  • ลักทรัพย์
  • ประพฤติผิดในกาม
  • พูดเท็จ
  • พูดส่อเสียด
  • พูดหยาบ
  • พูดเพ้อเจ้อ
  • อยากได้สมบัติผู้อื่น
  • ผูกพยาบาท
  • เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

หลุดจากสิ่งที่ขัดขวางใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่

  • ความพอใจในกาม
  • ความพยาบาท
  • ความหดหู่ท้อแท้
  • ความลังเลสงสัย
  • ความฟุ้งซ่าน

ที่มา: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ/เว็บไซต์กองนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา / หนังสือ 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร