วิธีเลือก "ถุงยางอนามัย" ให้ปลอดภัยช่วง "วันวาเลนไทน์"

11 ก.พ. 2566 | 12:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 13:08 น.

เช็ควิธีเลือก "ถุงยางอนามัย" ให้ปลอดภัยช่วง "วันวาเลนไทน์" คลิกดูเลยที่นี่มีคำตอบ แก้ปัญหาการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน

วันวาเลนไทน์ ตรงกับวันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี คนทั่วไปเรียกว่าวันแห่งความรัก โดยจะมีการมอบสิ่งของที่แสดงออกถึงความรักให้แก่กัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นมากมายสำหรับวันวาเลนไทน์ โดยกลายเป็นวันที่แสดงความรักต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องของการติดโรคทางเพศสัมพัธ์ หรือการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ

"ถุงยางอนามัย" จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันปัญหา แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงแนวทางการเลือกถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง ประกอบด้วย 

  • เลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์หรือใบรับแจ้งรายการละเอียด ซึ่งรับรองจาก อย. 
  • ควรสังเกตดูวันที่ผลิต วันหมดอายุก่อนซื้อ 
  • ใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศ 
  • สวมเพียงชั้นเดียวเท่านั้น เพราะการใส่ถุงยางอนามัยหลายชั้นจะทำให้เกิดการเสียดสีกันและฉีกขาดได้ 
  • ไม่ควรใช้น้ำมันทาผิว โลชั่นหรือปิโตรเลียมเจลลี แทนสารหล่อลื่น เพราะถุงยางอนามัยจะเสื่อมประสิทธิภาพและฉีกขาดได้ง่าย 
  • ควรเก็บรักษาให้ถูกวิธี เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพที่สูงสุด ควรเก็บถุงยางอนามัยในที่แห้ง เย็น ไม่ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์  
  • ไม่ควรเก็บ "ถุงยางอนามัย" ไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ซึ่งมีอุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน กระเป๋าใส่ธนบัตร หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะการกดทับจะทำให้ถุงยางอนามัยมีรอยรั่วหรือฉีกขาดได้

สำหรับถุงยางอนามัยนั้น จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งรายการละเอียดในการผลิตหรือนำเข้า ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีมาตรฐานและข้อกำหนดตาม มอก.  625-2559 หรือ ISO 4074 : 2015 ซึ่งถุงยางอนามัยถือเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น มีความบาง มีหลายสี หลายกลิ่น และหลายพื้นผิว เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้ ซึ่งถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม 

และสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น 

นายแพทย์วิทิต กล่าวอีกว่า 14 กุมภาพันธ์ เทศกาลวันแห่งความรัก เป็นช่วงเวลาที่ใครหลาย ๆ คน ให้ความสำคัญกับการแสดงความรักในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคู่รักหลายคู่มีการแสดงความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ใน "วันวาเลนไทน์" อย. จึงตระหนักถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน 

หรือปัญหาการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งสิ่งที่สามารถป้องกันได้ง่ายและเป็นพื้นฐาน คือ การใช้ "ถุงยางอนามัย" ที่ถูกต้อง