เปิดวิธีเลี้ยง "ปลาหยก" ของ "ซีพี" มีวิธีการ ขั้นตอนอย่างไร อ่านเลยที่นี่

03 ก.พ. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 08:28 น.
633

เปิดวิธีเลี้ยง "ปลาหยก" ของ "ซีพี" มีวิธีการ ขั้นตอนอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว ด้านกรมประมงยืนยันผ่านการได้รับอนุญาติ

"ปลาหยก" (Jade Perch) จากซีพี กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ ซีพี มีการออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ปลาหยก จนมีหลากหลายคำถามเกิดขึ้น 

ตั้งแต่ปลาหยกคืออะไร ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" เคยนำเสนอไปแล้ว คลิกอ่านที่นี่ 

นอกจากนี้ยังเกิดประเด็นสำคัญที่ว่า ปลาหยก สามารถเลี้ยงได้หรือไม่ หรือเป็นปลาต้องห้ามหรือไม่  

ซึ่งล่าสุดนายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง ได้ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้บริษัทฯนำมาทดลองเลี้ยงได้ แต่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายเป็นปลามีชีวิตที่เป็นลูกพันธุ์ เพราะเกรงจะเล็ดลอดไปในธรรมชาติ

เบื้องต้นดูตามข้อกฎหมาย(พ.ร.ก..การประมง พ.ศ. 2560)  มาตรา 65 เรื่องกิจกรรมการเพาะเลี้ยงทางกรมประมงโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพได้อนุญาตให้ทางซีพีเอฟนำปลาไปทดลองเพาะเลี้ยงได้ แต่ห้ามจำหน่ายเป็นปลาที่มีชีวิต เพราะเกรงจะหลุดไปในธรรมชาติ แต่พอทำเป็นเนื้อปลาแล้ว เบื้องต้นเท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ทางซีพีเอฟ ได้ขอทดลองตลาด และได้รับอนุญาตแล้ว อย่างไรก็ดีได้ให้ทางซีพีเอฟสรุปรายละเอียดให้กับทางกรมฯอีกครั้ง โดยให้เวลาหนึ่งสัปดาห์

“เวลานี้ซีพีเอามาทดลองตลาดผิดไหม ไม่ได้ผิดตามกฎหมายมาตรา 65 ที่พูดถึงลูกสัตว์น้ำ หรือพันธุ์สัตว์น้ำ ที่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อนำไปจำหน่าย แต่ซีพีสามารถควบคุมการเพาะเลี้ยงเองได้ แต่ต้องรายงานด้วย ส่วนการทำเป็นเนื้อปลาเพื่อนำไปทดลองตลาด ซีพีก็ขออนุญาตมา ซึ่งทางกรมก็อนุญาตให้นำไปทดลองตลาดได้ แต่จะขอดูในรายละเอียดนิดหนึ่ง” 

เปิดวิธีเลี้ยง "ปลาหยก" ของ "ซีพี" สำหรับการเพาะเลี้ยง "ปลาหยก" นั้น น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ CPF กล่าวว่า ปลาหยก เป็นปลาที่ CPF นำร่องนำเข้าไข่ปลาจากออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายในโรงเรือนระบบปิด พร้อมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตลอดกระบวนการเลี้ยง 

ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ปลอดโรค เลี้ยงในบ่อคอนกรีต ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลจากกรมประมง

นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการใช้ระบบ Ultrafiltration ที่สามารถกำจัดตะกอน เชื้อแบคทีเรีย ไปจนถึงเชื้อไวรัสที่มีขนาดเล็กมาก ขณะเดียวกัน ยังใช้เทคโนโลยีการหมุนเวียนน้ำ RAS (Recirculation aquaculture system) บำบัดคุณภาพน้ำ กำจัดของเสียในน้ำที่เคยใช้เลี้ยงปลา และหมุนเวียนน้ำใสคุณภาพดีกลับมาใช้ในการเลี้ยงปลาได้อีก

เทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแล้ว คุณภาพน้ำที่ดียังส่งผลทำให้ปลาหยก แข็งแรง โตไว ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง นับเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม