กรมประมงแจง “ซีพีเอฟ”ขายเนื้อปลาหยก ได้รับอนุญาตแล้ว

02 ก.พ. 2566 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 18:22 น.
1.8 k

กรมประมงแจง ซีพีเอฟ เปิดตัว “ปลาหยก”สินค้าใหม่ป้อนภัตตาคาร ได้รับอนุญาตทดลองเลี้ยง และทดลองตลาดแล้ว ระบุห้ามเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายเป็นลูกพันธุ์ หวั่นเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ ทำลายระบบนิเวศ เร่งซีพีเอฟแจงรายละเอียดในหนึ่งสัปดาห์

สืบเนื่องจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  หรือ ซีพีเอฟ  ได้เปิดตัว ปลาหยก (Jade Perch) โดยระบุเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียม รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท และผิวพรรณ ที่เลี้ยงด้วยกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู เพื่อส่งมอบอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีสู่ผู้บริโภคทั่วโลก โดยสามารถหาทานได้แล้วที่ร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำกว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ปลาหยก (Jade Perch) เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น 1 ใน 3 ชนิดที่  “ห้ามเพาะเลี้ยง” ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 โดยอาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ  บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ หรือในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง นําสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

กรมประมงแจง “ซีพีเอฟ”ขายเนื้อปลาหยก ได้รับอนุญาตแล้ว

กรณี ซีพีเอฟ  เปิดตัว “ปลาหยก” ดังกล่าว ผิดหรือไม่  นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้บริษัทฯนำมาทดลองเลี้ยงได้ แต่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายเป็นปลามีชีวิตที่เป็นลูกพันธุ์ เพราะเกรงจะเล็ดลอดไปในธรรมชาติ

เบื้องต้นดูตามข้อกฎหมาย(พ.ร.ก..การประมง พ.ศ. 2560)  มาตรา 65 เรื่องกิจกรรมการเพาะเลี้ยงทางกรมประมงโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพได้อนุญาตให้ทางซีพีเอฟนำปลาไปทดลองเพาะเลี้ยงได้ แต่ห้ามจำหน่ายเป็นปลาที่มีชีวิต เพราะเกรงจะหลุดไปในธรรมชาติ แต่พอทำเป็นเนื้อปลาแล้ว เบื้องต้นเท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ทางซีพีเอฟ ได้ขอทดลองตลาด และได้รับอนุญาตแล้ว อย่างไรก็ดีได้ให้ทางซีพีเอฟสรุปรายละเอียดให้กับทางกรมฯอีกครั้ง โดยให้เวลาหนึ่งสัปดาห์

“เวลานี้เขาเอามาทดลองตลาดผิดมั้ย ไม่ได้ผิดตามกฎหมายมาตรา 65 ที่พูดถึงลูกสัตว์น้ำ หรือพันธุ์สัตว์น้ำ ที่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อนำไปจำหน่าย แต่เขาสามารถควบคุมการเพาะเลี้ยงของเขาเองได้ แต่ต้องรายงานด้วย ส่วนการทำเป็นเนื้อปลาเพื่อนำไปทดลองตลาด เขาก็ขออนุญาตมา ซึ่งทางกรมก็อนุญาตให้นำไปทดลองตลาดได้ แต่จะขอดูในรายละเอียดนิดนึง” นายถาวร กล่าว