“จีนเปิดประเทศ” เต็มสูบ 8 ม.ค. 66 อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

03 ม.ค. 2566 | 20:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 15:45 น.
1.4 k

“จีนเปิดประเทศ” แบบเต็มสูบ 8 ม.ค. 2566 มีความท้าทายอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หลัง IMF มองคลายล็อกโควิดในจีนทำยอดติดเชื้อพุ่ง กระทบเศรษฐกิจโลก

จีนเปิดประเทศ 8 ม.ค. 2566 หลายฝ่ายคาดว่าจะช่วยฟื้นภาคท่องเที่ยวไทย ดันชาวต่างชาติทะลุ 20 ล้านคน สัญญาณที่เห็นชัดเจนคือหลังจากประกาศ มีรายงานว่าชาวจีนแห่จองตั๋วเครื่องบินและโปรแกรมทัวร์ เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ถือเป็นหมุดหมายปลายทางของชาวจีนอันดับต้นๆ

 

รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่ามาตรการรับมือนักท่องเที่ยวจีน ที่จะเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2566 ว่า ต้องเตรียมมาตรการเอาไว้ และต้องดูว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ ทั้งสาธารณสุข และทีมแทพย์

 

ยืนยันอีกเสียงจากกระทรวงสาธารณสุขไทย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนรับมือนักท่องเที่ยวจีน  ว่า คงไม่นำมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวดมาใช้ เพราะจากการประชุมของคณะนักวิชาการทางการแพทย์ เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ เพราะเชื้อเหมือนกัน แต่จะมีมาตรการดูแลความพร้อม คนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต้องมีประกันสุขภาพ เป็นต้น

 

โดยในวันที่ 5 มกราคม 2566 นี้ จะหารือร่วมกับ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน คาดการณ์ว่า ในเดือนมกราคมกุม-ภาพันธ์ จะมีนักท่องเที่ยวจีนทยอยเข้ามา ประมาณ 40,000-50,000 คน ยังไม่ได้อนุญาตให้มาเป็นคณะใหญ่

 

ดูเหมือนว่าจะเป็นเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาไทยอีกครั้ง เหมือนก่อนช่วงโควิดระบาด  แต่ก็มีสิ่งที่น่าจับตาอยู่เช่นกัน

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในรายการ ‘Face the Nation’ ช่อง CBS ว่า ปี 2023 เป็นปีที่ลำบากมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะ 3 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ต่างก็ชะลอตัวพร้อมกัน  โดยเฉพาะการที่จีนเริ่มยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และเปิดเศรษฐกิจ

 

โดยจอร์เจียวาบอกว่า ปี 2022 เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่การเติบโตของจีน จะเท่ากับหรือต่ำกว่าการเติบโตของ GDP ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การเเพร่ระบาดของโควิดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้ และฉุดการเติบโตทั้งในภูมิภาคและโลก

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลกเรียกร้อง ให้ทางการจีน เปิดเผยข้อมูลการระบาดของโควิดในประเทศ ก่อนจะเปิดประเทศ 8 ม.ค. แบบเรียลไทม์ที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันจีนเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์จริงออกมาน้อยมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงเกิดความกลัวและพากันประกาศใช้มาตรการบังคับตรวจโควิด-19 และจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวจีน

 

เช่น สหรัฐอเมริกาและไต้หวัน กำหนดให้นักท่องเที่ยวจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมือง ญี่ปุ่น ที่ประกาศว่า นักท่องเที่ยวจากจีน หรือใครที่เดินทางมาจากจีนภายในระยะเวลา 7 วันก่อนหน้านั้น จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองที่สนามบิน หากพบว่าผลตรวจเป็นบวกจำเป็นต้องกักตัวเป็นเวลา 7 วัน ในกรณีพบว่ามีอาการป่วย หรือหากไม่มีอาการต้องกักตัว 5 วัน ทางการญี่ปุ่นยังคงเข้มงวดในส่วนจำนวนเที่ยวบินจากจีน

 

ก่อนหน้านี้ KKP Research เคยประเมินการว่า หากจีนสามารถเปิดเมืองได้เต็มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การเปิดเมืองจะล่าช้าในช่วงแรก เนื่องจาก  อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำจะยังกดดันระบบสาธารณสุขจีน อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว 

 

เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเร็วอาจเพิ่มแรงกดดันในการทำนโยบายภาครัฐ

การเปิดเมืองจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ในปัจจุบันอยู่ที่ 2% มีความเสี่ยงเร่งตัวสูงขึ้นได้มาก มีสาเหตุจากอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยการผลิต (เช่น แรงงานในภาคบริการหรือโรงงานที่ถูกปิดตัวไป) ไม่สามารถกลับมาได้เร็วเท่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางจีนต้องขึ้นอัตราเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากระบบ แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ โดยจะทำให้การเข้าถึงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ จีนทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดจึงมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไปโดยจีนจะมีนโยบายสนับสนุนการขยายตัวของอุปทานไปด้วยเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ 

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเผชิญกับหลายอุปสรรคในระยะสั้น

ภาคการบริโภคของจีนจะหดตัวในระยะสั้นแม้ว่าจีนจะเริ่มคลายมาตรการโควิดแล้วก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภคในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งแรกของปี 2023 

 

ราคาพลังงานโลกอาจพุ่งสูงขึ้นเมื่อจีนเปิดเมือง

 ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากจุดสูงสุดแต่ราคายังค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนการระบาดโดยที่จีนยังไม่ได้เปิดเมืองด้วยซ้ำ วิกฤตราคาพลังงานสูงจากการตัดขาดอุปทานพลังงานจากรัสเซียที่ยังไม่สิ้นสุด การเปิดประเทศของจีนจะทำให้เกิดการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากและจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกได้ในปีหน้า

 

ส่งออกของประเทศแถบเอเชียอาจยังชะลออยู่แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว

หากจีนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่จริงจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกโลกในแถบเอเชียที่มีการส่งออกสินค้าไปจีนติดลบในช่วงที่ผ่านมา โดยประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือ 1) ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย  2) ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคการบริโภคในจีนสูงได้แก่ ฮ่องกง 3) ประเทศที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ 

 

อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ในจีนกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้งไม่ได้แปลว่าภาคการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆจะขยายตัวได้ดีในช่วงปีหน้า เพราะในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวและอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการส่งออกโดยรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ที่มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าอุปสงค์ที่มาจากจีน

 

ความผันผวนที่จะสูงขึ้นในปี 2023

  • ความผันผวนต่ออัตราเงินเฟ้อ 
  • ความผันผวนต่อสถานะทางการคลัง 
  •  ความผันผวนต่อค่าเงินบาท ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของไทยเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 
  • ความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในสหรัฐ ฯ  สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดที่ 5% ในช่วงกลางปีหน้า 

 

เศรษฐกิจจีนหลังโควิดคือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

เศรษฐกิจจีนอาจไม่กลับไปเติบโตแบบในอดีตจากความท้าท้ายหลายประการ ได้แก่

1) จำนวนประชากรโดยรวมและประชากรวัยทำงานที่กำลังหดตัว

2) ปริมาณหนี้ขนาดใหญ่ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

3) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาวแม้ว่าในระยะสั้นอาจฟื้นตัวได้ดีหลังการเปิดเมือง ประเด็นที่สำคัญคือ หากเศรษฐกิจจีนไม่กลับไปเติบโตเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 ผลกระทบสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย

 

 

 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คลิก