พระประวัติ องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

21 ธ.ค. 2565 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 20:13 น.
2.1 k

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็น"องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย" วันที่ 19 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ นับเป็นวันสำคัญของกองทัพเรือ

 

วันที่ 19 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันสำคัญของ กองทัพเรือไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ และทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย" แม้จะทรงสิ้นพระชนม์ไป 100 ปีแล้ว แต่ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของลูกนาวีไทยเสมอมา

 

นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423  มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) และเป็นพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ทรงมีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ ต้นราชสกุลสุริยง)

 

ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการทหารเรือ

ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 เมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

 

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งเป็นพระยศขณะนั้น ทรงแสดงความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการทหารเรือ ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษในปี พ.ศ. 2439 นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกของไทย ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงมีจุดประสงค์อันแรงกล้าที่จะฝึกให้ทหารเรือไทย เดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ และสามารถทำการรบทางเรือได้ เนื่องจากในอดีต ประเทศไทยได้ว่าจ้างชาวต่างชาติ มาเป็นผู้บังคับการเรือ มาโดยตลอด

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ก็ทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ

 

หลังเสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

 

การปรับปรุงทัพเรือไทย

ในปี พ.ศ. 2449 พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต เพื่อประสงค์ให้นักเรียนนายเรือสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว

 

ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"

 

นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ในปีพ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงคิดแต่เพียงค่าครูเท่านั้น ทั้งนี้ พระองค์ทรงโปรดให้เรียกพระองค์ว่า "หมอพร"

 

ชาวจีนย่านสำเพ็งมีความทราบซึ้งในพระกรุณาธิคุณและได้เรียกพระองค์ท่านว่า "เตี่ย" ซึ่งหมายถึงพ่อ ทำให้ในเวลาต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ขณะที่หมู่คนไข้ทั่วไปที่พระองค์รักษา มักจะเรียกขานนามพระองค์ว่า "หมอพร" ตามที่พระองค์ทรงโปรดให้เรียก  

 

ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 ประเทศสยามได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งจเรทหารเรือ และดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ

 

ทรงนำเรือรบหลวงจากอังกฤษสู่ไทยด้วยพระองค์เอง

จากนั้น พ.ศ. 2462 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือรบหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือรบหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานครด้วยพระองค์เอง

 

ปีพ.ศ. 2463 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็น “กรมหลวง” มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ฯลฯ (ส่วนคำ "เขตร" ซึ่งมีอยู่เดิมในพระนาม เปลี่ยนเป็น "เขต" นับจากนั้นมา)

 

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2465 เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้เลย

 

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นับเป็นตำแหน่งทางราชการตำแหน่งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์

 

"องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"

พระสมัญญานาม "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"

หลังจากทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้ไม่นาน พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จออกไปรักษาพระองค์ (ลาป่วย) ณ มณฑลสุราษฎร์ เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากประชวรด้วยโรคประจำพระองค์

 

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ซึ่งได้วินิจฉัยพระอาการของพระองค์ว่าประชวรด้วยพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสังเกตเห็นว่า กรมหลวงชุมพรฯ เริ่มทรงพระดำเนิน (เดิน) ไม่ถนัดมาตั้งแต่งานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของเจ้าจอมมารดาโหมดในรัชกาลที่ 5 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 (ตามปฏิทินในขณะนั้น)

 

ช่วงปลายพระชนม์ชีพ ทรงประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มณฑลสุราษฎร์ ระหว่างนั้นทรงประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้พระอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที สิริพระชันษาเพียง 42 ปี 151 วัน มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

 

กองทัพเรือไทยได้ถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร" และเนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาในปี 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย" และจากนั้นในปี 2544 มีการแก้ไขพระสมัญญานามเป็น "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย" 

 

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่นที่โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นต้น

 

2565 ครบรอบ 100 ปีวันสิ้นพระชนม์

19 ธ.ค.ปีนี้ (2565) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย" กองทัพเรือมีกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ แต่เกิดเหตุสะเทือนใจ เรือหลวงสุโขทัย อับปางลงท่ามกลางสภาพอากาศคลื่นสูงลมแรงในอ่าวไทยเมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มีคำสั่งให้เลื่อนการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปีการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ออกไปก่อน โดยให้เหลือเพียงพิธีตักบาตรพระสงฆ์หน้ากองบัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ และหน่วยทหารทั่วประเทศตามปกติ เพื่อเร่งช่วยเหลือกำลังพลประจำเรือหลวงสุโขทัยที่ยังอยู่ระหว่างการค้นหาและตรวจสอบสาเหตุเรือจมที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

 

โดยกิจกรรมที่เลื่อนออกไปก่อนนั้น ได้แก่ พิธีติดตั้งตราสัญลักษณ์ครบรอบวันสิ้นพระชนม์100 ปี พิธีถวายสักการะพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  พิธีร้องเพลงพระนิพนธ์ฯ (เพลงดาบของชาติ เพลงเดินหน้า เพลงดอกประดู่) และการจัดขบวนเรือยิงสลุตถวายความเคารพจำนวน 19 นัด ตลอดจนการแปรอักษรเป็นตัวเลข 100 โดยเรือหลวง (ร.ล.)จักรีนฤเบศรและเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ในทะเลบริเวณหน้าแหลมปู่เจ้า ฐานทัพเรือสัตหีบ

 

เดิมทีนั้น เรือหลวงสุโขทัยมีกำหนดภารกิจจะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์กองทัพเรือ