ผ่าสเปก “เรือหลวงสุโขทัย” กับคำถามทำไมอับปาง คลื่นลม-ระบบ ?

21 ธ.ค. 2565 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 16:22 น.
2.6 k

ผ่าสเปก “เรือหลวงสุโขทัย” กับคำถามทำไมอับปาง คลื่นลม-ระบบ ? ขณะที่การค้นหาผู้สูญหายยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

วันนี้สังคมยังต้องส่งกำลังใจให้ทีมค้นหาผู้สูญหายจากเหตุเรือหลวงสุโขทัย จมลงที่นอกชายฝั่งบางสะพาน ซึ่งยังคงมีผู้สูญหายอยู่อีกหลายสิบคน แต่ประเด็นที่ยังต้องหาคำตอบก็คืออะไรคือสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้

 

“จะต้องสอบสวนตั้งแต่ ผู้การเรือ กำลังพลทุกนาย ถึงเหตุการณ์เกิดขึ้น ขั้นตอนปฏิบัติ และข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของเรือจมที่มีการกล่าวว่าเสื้อชูชีพไม่พอกับกำลังพล ต้องถูกสอบสวนและรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดมาที่กองทัพเรือ ขอให้ประชาชนได้รับทราบว่าเรามีกฎหมายแนวทางปฏิบัติที่จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงในทุกเรื่อง”

 

คือคำยืนยันส่วนหนึ่งของพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในการแถลงข่าวความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อวาน (20 ธันวาคม 2565 )

 “เรือหลวงสุโขทัย” อับปางในทะเลอ่าวไทย

  • เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565  ขณะกำลังลาดตระเวนอยู่บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
  • เวลา 17.16 น. มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ เครื่องไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้เรือไม่สามารถควบคุมเรือได้ และทำให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็ว จนเรือเอียงในเวลาต่อมา
  • เวลา 23.46 น. วันที่ 18 ธ.ค. 2565 เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงใต้ผิวน้ำ และอับปางในที่สุด ทั้งนี้ มีกำลังพลทั้งหมดบนเรือ 105 นาย มีกำลังพลผู้สูญหาย 30 นาย
  • วานนี้ (20 ธ.ค. 65) ทางกองทัพเรือ ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ออฟฟิศเชียล ‘กองทัพเรือ ROYAL THAI NAVY’ (@prroyalthainavy) เวลา 20.56 น.  ค้นพบผู้เสียเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย  รวมพบเสียชีวิต 6 ราย เฮลิคอปเตอร์แบบซีฮอร์ค ลำเลียงศพผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย มาที่ อ.บางสะพาน  เเละล่าสุดเช้านี้ (21 ธ.ค.65) ได้มีการนำส่งร่างผู้เสียชีวิต 5 ราย เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล อีก 1 ราย เตรียมส่งชันสูตรวันนี้
  • เช้าวันนี้ (21 ธ.ค.65) กู้ภัยเตรียมรถและอุปกรณ์พร้อมช่วยเหลือและลำเลียงร่างผู้เสียชีวิต จากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 

  • ยังไม่ทราบชะตากรรมอีกกว่า 23 นาย

  •  เบื้องต้นมีการประเมินมูลค่าความเสียหายจากเหตุอับปางครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ประวัติเรือหลวงสุโขทัย

  • เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ (2 ลำ) สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ที่เมือง TACOMA สหรัฐอเมริกา มีชื่อเดิมว่า RTN 252 FT PSMM MK-16 #446

 

  • ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงพร้อมปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติในเวลาเดียวกัน คือ การป้องกันภัยทางอากาศ ผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

 

สเปกเรือหลวงสุโขทัย

  • ซื้อจากสหรัฐอเมริกา คุณสมบัติ ระวางขับน้ำ: ปกติ 866.8 ตัน / เต็มที่ 958.9 ตัน กว้างxยาวxสูง: 9.6 x 76.7 x 26.82 เมตร น้ำลึกหัว: 3.81 เมตร น้ำลึกท้าย: 3.07 เมตร โดมโซนาร์: 4.5 เมตร

 

  • เครื่องจักรใหญ่: ดีเซลจำนวน 2 เครื่อง ชนิด 4 Stroke, Single Action แบบ 20V 1163 TB 83 กำลัง 7,268 แรงม้า

 

  • เครื่องไฟฟ้า: จำนวน 4 เครื่อง ชนิด Self-Regulating Brushless Alternators แบบ DKB 100/550-4TS

 

  • ความเร็ว: มัธยัสถ์ 16 นอต สูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการสูงสุด: 3,568 ไมล์ทะเล

 

ภารกิจหลักของเรือหลวงสุโขทัย

  • ปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวน ตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง
  • สนับสนุนภารกิจกองทัพเรือ แม้จะมีอายุใช้งานถึง 35 ปี แต่ก็ได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

ขีดความสามารถของเรือหลวงสุโขทัย

  • ระดมยิงด้วยปืน 76/62 OTO MELARA 1 กระบอก ต่อสู้อากาศยานด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ 1 กระบอก
  • ป้องกันระยะประชิดด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ ปืนกล 20 มิลลเมตร 2 กระบอก และเครื่องทำเป้าลวง DAGAIE
  • ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ASPICE 2000 ด้วยแท่นยิง ALBATROS Mk2 9/T ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น MK 32 MOD5

 

ด้าน ThaiArmedForce.com ระบุว่า แม้เรือจะเก่าเกิน 35 ปี แต่ก็เป็นเรือที่กองทัพเรือให้ความสำคัญสูงมาก มีการปรับปรุงให้ทันสมัยมาเรื่อย ๆ ไม่รวมการซ่อมทำตามวงรอบปกติ

  • ปรับปรุงโซนาร์ DSQS-21C สำหรับการค้นหาเรือดำน้ำ
  • เปลี่ยนระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จาก R-ESM เป็น ES-3601
  • เปลี่ยนเรดาร์พื้นน้ำเป็น Scout Mk 3 LPI
  • ติดตั้งระบบออปโทรนิกส์ DCoMPASS
  • ปรับปรุงจรวดพื้นสู่อากาศ เป็น Aspide 2000
  • ปรับปรุงระบบ Datalink เป็น link Y Mk 2 และติดตั้ง link RTN

 

ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กองทัพเรือเพิ่งได้งบประมาณปี 2566 มาปรับปรุงเพิ่มเติมอีก โดยจะทำการเปลี่ยนตอร์ปิโดให้เป็นรุ่นใหม่คือ Mk. 54 Mod 0 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่กองทัพเรือสหรัฐใช้ แปลว่ากองทัพเรือมีความตั้งใจจะใช้งานเรือหลวงสุโขทัยต่ออีกอย่างน้อย 15 ปี

 

เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือรบหลัก 1 ใน 5 ลำของกองทัพเรือในตอนนี้ที่รบได้ครบ 3 มิติคือบนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ และมีจรวดพื้นสู่พื้นกับพื้นสู่อากาศในการรับมือกับภัยคุกคามครบ โดยอีก 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ โดยแผนความต้องการของกองทัพเรือ คือ ต้องมีเรือที่มีสมรรถณะสูงแบบนี้ 8 ลำด้วยกัน ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันเคยกล่าวไว้เมื่อตอนรับตำแหน่งใหม่ว่ากำลังจะเสนองบจัดหา 1 ลำเพิ่มเติม ต่อจาก เรือหลวงภูมิพล ขณะที่อีก 2 ลำ ยังไม่มีแผน จึงต้องใช้ เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี ที่พอจะทดแทนได้ไปก่อน แต่เรือไม่มีจรวดพื้นสู่อากาศ และระบบปราบเรือดำน้ำไม่ทันสมัย

 

ในการรบเป็นกองเรือ เรือหลวงสุโขทัยสามารถทำหน้าที่ในการป้องกันทางอากาศ เป็นเรือป้องกันระยะใกล้ (Goalkeeper) ให้กับเรือหลักที่มีคุณค่าสูงได้ เปิดเรือยามเรดาร์ (Picket) ให้กับกองเรือหลักได้ และทำหน้าที่ในการปราบเรือดำน้ำ เป็นเรือฉากระยะใกล้ (Inner screen) ได้

 

ดังนั้นการเสียเรือหลวงสุโขทัยไปคือการเสียกำลังรบชั้นแนวหน้าถึง 20% ที่กองทัพเรือมี ซึ่งก็หมายถึงจะส่งผลให้ขีดความสามารถของกองทัพเรือลดลงไปค่อนข้างมากแน่นอน

 

เหตุการณ์นี้เรียกว่าถือเป็นเคสแรกๆในรอบหลายสิบปีที่เรือขนาดใหญ่จะโดนคลื่นถล่มจมกลางทะเลอ่าวไทย หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์กันไปต่างๆ

 

เป็นเพราะคลื่นลมในทะเล ระบบ  การฝึกซ้อมกำลังพลให้รับมือกับสถานการณ์ หลักปฏิบัติจำนวนผู้โดยสารเรือที่มีจำนวนมากกว่าเสื้อชูชีพเรือ รวมไปถึงเรื่องการดูแลรักษาเรือว่ามีเพียงพอหรือไม่ ??? 

 

จึงเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือจะต้องสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุอย่างละเอียดในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อคลายข้อสงสัยต่อสังคมและเพื่อสร้างขวัญกำลังใจต่อกำลังพล อีกทั้งการจัดหายุทโธปกรณ์ ตลอดจนแผนในการส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด