อาณาจักร "จุน วนวิทย์" เศรษฐีใจบุญแห่ง "ฮาตาริ"

13 ธ.ค. 2565 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 17:42 น.
2.4 k

เปิดอาณาจักร “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้ง "ฮาตาริ" ติดท็อป 1 ใน 15 เศรษฐีใจบุญแห่งเอเชีย 2565 พร้อมเปิดเส้นทางฮาตาริ และเรื่องราวความใจบุญ

ชื่อของ “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้งบริษัท "ฮาตาริ" แบรนด์พัดลมคุณภาพที่ขายดีจากประเทศไทย ถูกจัดติดอันดับให้เป็น 1 ใน 15 มหาเศรษฐีผู้ใจบุญแห่งเอเชีย ประจำปี 2565 จากนิตยสารฟอร์บส์  เช่น ด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อม โดยการจัดอันดับนี้ หลังจากเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เขาและครอบครัว ได้บริจาคเงินส่วนตัว 900 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิรามาธิบดี

 

 

ครั้งนั้นเรียกว่าเป็นกระแสชื่นชมในโลกออนไลน์อย่างมาก หลัง เฟซบุ๊ก Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาพเช็คธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประชาอุทิศ ชื่อบัญชี "จุน วนวิทย์"

 

"จุน วนวิทย์" ได้รับการจัดอันดับจาก Forbes Thailand เมื่อปี 2559 ว่าเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทยในอันดับที่ 49 โดย ณ ขณะนั้นมีทรัพย์สินรวมประมาณ 14,810 ล้านบาท

 

 

ส่วนมหาเศรษฐีคนอื่นที่ติดอันดับมหาเศรษฐีใจบุญแห่งเอเชียในปีนี้ คือ กัวตัม อะดานิ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในอินเดีย, ฮิโรชิ มิกิทานิ เศรษฐีญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งและซีอีโอราคูเท็น กรุ๊ป และเมลานี เพอร์กินส์ หญิงชาวออสเตรเลียผู้ก่อตั้งแคนวา

 

ประวัติของ "จุน วนวิทย์"

  • เกิดเมื่อ 7 พ.ค. 2480 ที่กรุงเทพมหานคร  เติบโตจากครอบครัวคนจีน ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้น ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน จบเพียงชั้น ป.2 จึงไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา แต่ก็พยายามแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้เขามีความรู้ในหลายๆ เรื่อง และมีความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดและพัฒนาสินค้าจนสร้างฮาตาริมาถึงทุกวันนี้ได้
  • เขาทำหลากหลายทำอาชีพ ทั้ง ช่างทำทอง ขับรถโดยสารรับจ้าง ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก ลูกจ้างโรงกลึง ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดงานพลาสติก จึงได้เห็นช่องทางธุรกิจ ออกแบบและผลิตของเล่นเด็กออกจำหน่าย
  • อายุ 28 ปี ด้วยมีความรู้เรื่องการฉีดพลาสติก จึงได้นำความคิดมาผลิตโครงพัดลมพลาสติก ซึ่งสมัยก่อนโครงล้วนทำด้วยโลหะอลูมิเนียม ก่อนเสนอขายชิ้นงานให้กับโรงงานผลิตพัดลมที่มีขณะนั้น จนกลายเป็นที่แพร่หลาย
  • ต่อมา ได้เรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ไต้หวัน แล้วจึงนำมาผลิตพัดลมที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมดออกจำหน่ายเป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยเริ่มแรกใช้ชื่อยี่ห้อ K และยี่ห้อ TORY
  • อายุ 52 ปี ได้ผลิตพัดลมยี่ห้อฮาตาริ ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก จนทำให้ฮาตาริกลายเป็นสินค้าแบรนด์ไทยชื่อญี่ปุ่น ที่เป็นคนไทยทำและผลิตเอง ใช้ชิ้นส่วนของตัวเองแทบจะ 90% และยังรับผลิตชิ้นส่วนพัดลมให้กับแบรนด์อื่นๆ ด้วย เเละ ฮาตาริยังแตกไลน์ไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น คือ เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องซักผ้าขนาดเล็กด้วย

 

อาณาจักร "จุน วนวิทย์"เศรษฐีผู้ใจบุญแห่ง "ฮาตาริ"

อาณาจักร "จุน วนวิทย์"เศรษฐีผู้ใจบุญแห่ง "ฮาตาริ"

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นจาก Creden Data ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทครบวงจร พบว่า นายจุน วนวิทย์ ถือหุ้น 5 บริษัท ในปี 2564 มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 6,989.5 ล้านบาท รายได้รวม 13,104.3 ล้านบาท กำไร 781.7 ล้านบาท ดังนี้

  1. บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า นายจุนถือหุ้น 1 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25% ในปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 4,148,495,819 บาท รายได้รวม 5,774,766,880 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไร 645,645,044 บาท
  2. บริษัท วนวิทย์ เมทัล เวิร์ค จำกัด  บริษัทผลิตชิ้นส่วนพัดลม นายจุนถือหุ้น 80,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 40% ในปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 358,798,045 บาท รายได้รวม 478,660,886 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไร 45,360,093 บาท
  3. บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด  บริษัทพัดลมเครื่องฟอกอากาศ,เครื่องซักผ้า นายจุนถือหุ้น 12,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25% ในปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 1,840,611,972 บาท รายได้รวม 6,336,193,438 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไร 65,821,884 บาท 
  4. บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด นายจุนถือหุ้น 101,660 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.17% ในปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 596,350,511 บาท รายได้รวม 506,237,407 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไร 23,553,832 บาท
  5. บริษัท จุน เอส.ดับบลิว.พี. จำกัด   นายจุนถือหุ้น 20,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 8.00% ในปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 45,292,551 บาท รายได้รวม 8,443,693 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไร 1,329,203 บาท

 

เรื่องราวความใจบุญของ "จุน วนวิทย์"

  • ครอบครัววนวิทย์ บริจาคสิ่งของให้กับหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลต่างๆ โดยบริจาคเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ มากมาย 
  • บริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษา สร้างศูนย์วิปัสสนา สมทบทุนสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) สร้างสะพานลอย เป็นต้น
  • การบริจาคเงินส่วนตัวของเขามากถึง 900 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิรามาธิบดี