9 พระราชกรณียกิจที่สำคัญของ "ในหลวง ร.9"

03 ธ.ค. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2565 | 09:04 น.
7.9 k

วันที่ 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ เปิด 9 พระราชกรณียกิจที่สำคัญของ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย

วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ มีโครงการมากกว่า 3,000 โครงการที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทย ทั้งนี้ ขอน้อมนำ 9 พระราชกรณียกิจที่สำคัญมานำเสนอ ดังนี้ 

 

1.เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ 

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ในหลวง ร.9 พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ซึ่งประกอบด้วย ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้วางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน 

ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุดซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากมากนัก 

 

การดำเนินงานตามทฤษฎีใหม่มี 3 ขั้นตอน 

1.การผลิต ให้พึ่งตนเองด้วยวิธีง่าย ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ให้พอมีพอกิน ซึ่งในขั้นแรกนี้ถือเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 

 

ทั้งนี้ การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ ทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ

  • พื้นที่ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้สม่ำเสมอตลอดปี โดยเก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ และพืชน้ำต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด โสน ฯลฯ

 

  • พื้นที่ประมาณ 30 % ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เป็นการลดค่าใช้จ่าย และสามารพึ่งตนเองได้

 

  • พื้นที่ประมาณ 30 % ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ อย่างผสมผสานกัน และหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลิอจากการบริโภคก็นำไปขายได้
  • พื้นที่ประมาณ 10 % ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง คันดิน โรงเรือนและสิ่งก่อสร้างอื่นรวมทั้งคอกเลี้ยงสัตว์ เรือนเพาะชำ ฉางเก็บผลิตผลการเกษตร ฯลฯ

2.การรวมพลังกันในรูปแบบ หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกัน ในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา

3.การดำเนินธุรกิจโดยติดต่อ ประสานงาน จัดหาทุนหรือแหล่งเงิน

 

2. โครงการแกล้งดิน

เป็นแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด อันเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2524 ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขต จ.นราธิวาส และทรงพบว่า ราษฎรมีความเดือดร้อนหลายเรื่องโดยเฉพาะในกลุ่มของเกษตร ขาดแคลนที่ทํากิน หรือปัญหาในพื้นที่พรุซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปีถึงแม้สามารถทําให้น้ำแห้งได้ ดินในพื้นที่เหล่านั้นก็ยังเป็น ดินเปรี้ยวจัด ทําการเกษตรได้ผลน้อยไม่คุ้มทุน

 

จึงกําเนิด "โครงการแกล้งดิน" ขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นหน่วยดําเนินการสนองพระราชดําริ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็น กรดของดินกํามะถัน

 

เริ่มจากวิธีการ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” ด้วยการทําให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเรื่อย ๆ เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทําปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกํามะถันออกมา ทําให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น “แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด” กระทั่งพืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชสามารถทำเกษตรกรรมได้

 

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง "กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก" (โครงการแกล้งดิน) ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

 

3. โครงการปลูกหญ้าแฝก

ในหลวง ร.9 ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลอง ให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย 

 

โครงการวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่า หญ้าแฝก สามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อเป็นปราการธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้ ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติและทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน หญ้าแฝก สามารถนำมาใช้ในการปกป้องและอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ เช่น ปลูกตามแนวคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำและหนองบึง

 

รวมทั้งไหล่ถนนและบริเวณใกล้สะพาน รากที่สานกันแน่นเหมือนตาข่ายจะพยุงดินไว้ กลายเป็น "กำแพงใต้ดินที่มีชีวิต" ช่วยชะลอแรงน้ำ ทำให้น้ำซึมลงในดินได้มากขึ้น ช่วยป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย ในส่วนของบริเวณเชิงเขาแนวรั้วหญ้าแฝกยังช่วยหยุดยั้งการพังทลายของดินด้วยเช่นกันซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536 หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ


4. โครงการฝนหลวง

เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในปี พ.ศ.2408 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร พระองค์ได้ทรงเริ่มทดลองการสร้าง "ฝนเทียม" ด้วยพระองค์เอง โดยแยกวิธีการเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การก่อกวน ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน และขั้นตอนที่ 3 โจมตี

 

จากนั้นจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2512 ด้วยความสำเร็จของโครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฏีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ.2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง"

 

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) หมายเลข EP1491088 อีกทั้งสิทธิบัตรในฮ่องกงและของประเทศอื่น ๆ รวมถึงรางวัล Gold medal with mention หรือ รางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวงด้วย

 

5. กังหันน้ำชัยพัฒนา

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียและใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี และสามารถประยุกต์ใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มออกซิเจนให้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตรได้ด้วย 

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายสิทธิบัตร และยังเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย ต่อมาจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปีเป็น "วันนักประดิษฐ์" และในปี พ.ศ. 2543 และ 2544 คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า แห่ง The Belgian Chamber of Inventors สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของเบลเยี่ยม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล  BRUSSELS EUREKA 2000 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมระดับโลก จากผลงานครื่องเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา 


6.โครงการหลวง 

เป็นโครงการส่วนพระองค์ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยในระยะแรกมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง

 

ในระยะแรก เป็นโครงการอาสาสมัคร โดยมีอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้​ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกองทัพอากาศ เข้ามาปฏิบัติงาน

 

ปัจจุบันโครงการหลวง ดำเนินงานในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 35 ศูนย์ โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงล่าสุด คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผัก ผลไม้ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมทั้งกาแฟ ในชื่อการค้า "โครงการหลวง"

 

7. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

เป็นโครงการที่ทรงริเริ่มดำเนินการทดลองการแปรรูปผลิตผลการเกษตรขึ้นในพระราชวังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด "โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา" ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับ 

 

มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานอยู่ 3 ประการ คือ เป็นโครงการศึกษาทดลอง เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา เพื่อสามารถนำกลับไปดำเนินการเองได้ และเป็นโครงการที่ไม่หวังผลตอบแทน (เชิงธุรกิจ) โดยกิจการต่างๆ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีการดำเนินงาน 2 แบบ คือ

 

  • โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการทดลองวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้สำหรับนำมาพัฒนาด้านการเกษตร เช่น การเพาะพันธุ์ปลา การปลูกป่า นาข้าวทดลอง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ฯลฯ

 

  • โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการทดลองแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายและนำผลกำไรมาขยายงาน เป็นต้นแบบของการประกอบกิจการขนาดเล็ก มีการจัดการบริหารเป็นระบบ มีรายรับรายจ่ายชัดเจน ซึ่งมี 2 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมนม และกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและเกษตรต่อเนื่อง

 

การดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และนำผลกำไรที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงกิจการอื่นๆ สืบต่อมา เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยได้เป็นอย่างดี สมดังพระราชประสงค์ในการก่อตั้งโครงการ


8.โครงการพระราชดำริ สถาบันราชประชาสมาสัยเพื่อผู้ป่วยโรคเรื้อน 

สถาบันราชประชาสมาสัย เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อน ทั้งนี้ ในช่วงต้นรัชกาล ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะยากลำบากเนื่องมาจากสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงต่าง ๆ  ซึ่งในขณะนั้นการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค

 

พระองค์จึงมุ่งเน้นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจไปทางด้านสาธารณสุขก่อนเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า หากประชาชนสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่มีกำลังและสติปัญญาไปฟื้นฟูประเทศ 

 

โรคระบาดร้ายแรง หนึ่งในนั้น คือ โรคเรื้อน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหรือทำให้พิการเป็นจำนวนมาก โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2493 โดยในส่วนของโรคเรื้อนนั้น พระราชทานพระราชดำริในการควบคุมโรค ทรงพระเมตตามหากรุณาธิคุณพระราชทาน "พระราชทฤษฎีราชประชาสมาสัย" (กษัตริย์และประชาชนย่อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) และโปรดเกล้าฯให้ สถาบันราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย ให้การรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน

 

ตลอดจนปฏิบัติงานค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันและรักษาโรคเรื้อน รวมถึงให้บริการด้านการฟื้นฟูร่างกายและการฝึกอาชีพ การควบคุมโรคเรื้อนไม่ให้ระบาดประสบความสำเร็จด้วยดี ในปัจจุบันอัตราผู้ป่วยจึงเป็นเพียง 0.11 เท่านั้นต่อจำนวนประชากร 10,000 คน ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป

 

9.โครงการปลานิล (Tilapia nilotica) พระราชทาน 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะทรงดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับ ปลาหมอเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน 25 คู่ ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลา ในบริเวณสวนจิตรลดา ปลาดังกล่าวได้เจริญเติบโตขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

 

และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า "ปลานิล" โดยทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา "Nil" จาก "Nilotica" และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า 10,000 ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่างๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยงพร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภค

 

ทั้งยังมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาสายพันธุ์ปลานิลแท้ เมื่อครั้งได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวาย ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ปลาที่พระราชทานไปขยายพันธุ์ต้องเป็นพันธุ์แท้ ถ้ากรมประมงหาพันธุ์แท้ไม่ได้ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดาและมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโต มีเนื้อมาก ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในสวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา" เพราะเป็นพันธุ์แท้นั่นเอง

 

จากปลานิลจำนวน 25 คู่ ในสระน้ำสวนจิตรดาสู่ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาที่กรมประมงนำไปขยายผลสู่ประชาชนไปแล้วกว่า 1,500 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท และมีการสนับสนุนพันธุ์ปลานิลให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ล้าน ตัว/ปี เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ช่วยยกระดับภาวะโภชนาการและสร้างอาชีพ รายได้ ให้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลายและกว้างขวางในปัจจุบัน     

 

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) , มูลนิธิชัยพัฒนา