ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid

25 เม.ย. 2567 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2567 | 06:57 น.
655

ค่ายจีน SVOLT ที่มี “บ้านปู เน็กซ์” เข้าไปถือหุ้น ศึกษาแผนผลิตแบตเตอรี่ EV ระดับเซลล์ในไทย ส่วน เกรท วอลล์ มอเตอร์ เตรียมสั่งซื้อแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อนำมาใช้กับรถที่ประกอบในไทยช่วงปลายปีนี้เพิ่มเติม ทั้ง Haval และ TANK หลังจาก ORA Good Cat CKD นำร่องไปก่อน

ตามที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ประกาศตัวเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทยรายแรก ภายใต้โครงการ EV 3.0 กับรุ่น ORA Good Cat เพื่อชดเชยการนำเข้าจากจีนมาขายก่อนหน้านี้ (เริ่มปี 2567 ต้องผลิตในประเทศชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1:1 คัน แต่ถ้าเริ่มปี 2568 ต้องผลิตชดเชยในอัตราส่วน 1: 1.5 คัน) พร้อมรับสิทธิ์ประโยชน์ตามเดิม เช่น เงินสนับสนุน 1.5 แสนบาท และเสียภาษีสรรพสามิต 2%

 

ปี 2566 ORA Good Cat ขายรวมทุกรุ่น 6,032 คัน ซึ่งทั้งหมดเป็นรถนำเข้าจากจีน ส่วนรุ่นประกอบในประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังนำเข้าแบตเตอรี่ของบริษัท SVOLT จากจีนมาใช้ก่อน แต่หลังจากเดือนมีนาคม เป็นต้นไป จะใช้แบตเตอรี่ LFP ที่ประกอบโดยโรงงานของ SVOLT ที่ อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี

ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid

สำหรับ ORA Good Cat รุ่นประกอบในประเทศ เปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ LFP ความจุ 57.7 kWh เหมือนกันทุกรุ่น (เดิมรุ่นท็อป 500 ULTRA ใช้ NMC ของ CATL ) และด้วยสเปกใหม่นี้ทำให้ระยะทางวิ่งในรุ่น ULTRA ลดลงจาก 500 กม. เหลือ 480 กม. สอดคล้องกับราคาขายที่ปรับลดลงเหลือ 899,000 บาท (ลดไป 60,000 บาท) ส่วนรุ่น 400 PRO เดิม ที่แบตเตอรี่เล็กกว่า และเป็น LFP อยู่แล้ว ลดไป 29,500 บาท เป็น 799,000 บาท

 

นอกจาก ORA Good Cat ที่ใช้แบตเตอรี่ LFP ที่ประกอบโดยโรงงานของ SVOLT จ.ชลบุรี แล้ว เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเตรียมสั่งซื้อเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้กับบรรดาเอสยูวีไฮบริดที่ประกอบอยู่ในโรงงาน GWM จ.ระยอง

 

โดยโครงการนี้ จะเริ่มปลายปี 2567 กับเอสยูวีไฮบริด Haval H6 Haval Jolion รวมถึง TANK 300 และ TANK 500 รวมถึงรถปลั๊ก-อินไฮบริด Haval H6 PHEV

 

ส่วนการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของ SVOLT ที่ประกอบในไทย จะทำให้ราคาเอสยูวีเหล่านี้ลดลงหรือไม่ ยังไม่มีการยืนยันจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์

ทั้งนี้ SVOLT ลงทุน 1,250 ล้านบาท สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ Module PACK Factory ในไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 จากนั้นเริ่มผลิตจริงต้นปี 2567 คาดว่าปีแรกจะส่งมอบได้รวม 20,000 ชุด โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเนต้า

ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid

เหนืออื่นใด ในช่วงปลายปีที่แล้ว บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาด ยังเข้าไปซื้อหุ้น 40% ใน SVOLT หรือ บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเงินลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท

 

โดยดีลนี้จะช่วยต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเข้า-ส่งออก การให้บริการด้านเทคนิค การให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำพร้อมเสนอโซลูชันเรื่องแบตเตอรี่และการจัดเก็บพลังงานตามความต้องการของลูกค้า

 

นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ 2 ล้อและ 3 ล้อ ระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ รวมถึงบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ล่าสุด SVOLT และ บ้านปู เน็กซ์ มีการพูดคุยกับ BOI ถึงแผนศึกษาการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนระดับเซลล์ในไทย ซึ่งจะเป็นการยกระดับจากปัจจุบันที่เป็นการนำเข้าชุดเซลล์ มาประกอบเป็นแพกแบตเตอรี่ อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า ผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ Contemporary Amperex Technology (CATL), บริษัท China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda, และ SVOLT Energy Technology มองเห็นโอกาสในการเลือกไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่

ค่ายจีน SVOLT เล็งผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ป้อนลูกค้า EV Hybrid

BOI คาดว่า ในปี 2567 นี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อยสองรายจากจีน จะเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย ซึ่งจะมีมูลค่าเงินลงทุนในระยะแรกรวมกันเป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

 

ในขณะที่รายอื่นๆ อยู่ระหว่างเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทยและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาการตัดสินใจลงทุนในไทย