ค่ายรถญี่ปุ่นยอดร่วง - BOI เร่งจีนปั้นซัพพลายเชน EV

18 เม.ย. 2567 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 12:36 น.
962

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยอดร่วงถ้วนหน้า หลังผ่านไตรมาสแรกของปี 2567 ในขณะที่ตลาดรวมตกไป 25% ด้าน BOI สนับสนุนงานจับคู่ธุรกิจ เร่งให้ EV จีน หาผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย

ตลาดรถยนต์ปิดไตรมาสแรกด้วยยอดขายกว่า 1.6 แสนคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีแล้ว โดยบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นตัวเลขติดลบถ้วนหน้า 20-40% ไล่ตั้งแต่ โตโยต้า 58,311 คัน อีซูซุ 24,443 คัน ฮอนด้า 25,107 คัน (ลดลง 3.3%) มิตซูบิชิ 7,587 คัน นิสสัน 2,877 คัน มาสด้า 2,431 คัน ซูซูกิ 1,979 คัน

 

นอกจากค่ายรถญี่ปุ่นจะต้องปรับตัว เพื่อสู้กับการมาถึงของ EV จีน แล้ว ปีนี้ยังเจอปัจจัยลบจากสภาพเศรษฐกิจที่สั่งสมมานาน คือหนี้ภาคครัวเรือนสูง ส่งผลให้ไฟแนนซ์ต้องคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระทบโดยตรงกับยอดขายโดยเฉพาะกลุ่มปิกอัพ 1 ตัน ที่ยอดขายตกไปกว่า 40%

ค่ายรถญี่ปุ่นยอดร่วง - BOI เร่งจีนปั้นซัพพลายเชน EV

ถือเป็นสถานการณ์บีบคั้น ปั่นป่วนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของค่ายรถญี่ปุ่น ทั้ง “ยอดขายลด กำไรบางลง” จากการต้องใช้เงินสนับสนุนการขายมากขึ้น หรือทำโปรโมชันหนักๆ เพื่อสู้กับ EV จีนที่เล่นสงครามราคาอย่างหนัก

 

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ปี 2567 หลักคือ ภาวะทางเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและหนี้เสีย NPL มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง นโยบายและกฎระเบียบด้านยานยนต์ การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับยูโร 5 ทั้งรถยนต์และนํ้ามัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคารถยนต์และนํ้ามันปรับตัวสูงขึ้น

 

“อนาคตยานยนต์ไฟฟ้า EV ในไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดจดทะเบียนรวมปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.0 - 1.2 แสนคัน แต่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ยอดขายรถ EV มีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัว ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการตัดสินใจชะลอซื้อรถรุ่นใหม่ เพราะการทยอยเข้ามาของรถ EV รุ่นใหม่ แบรนด์ใหม่ๆ จากประเทศจีน และการทำสงครามราคาของ EV ด้วยกันเอง” นายสุวัชร์ กล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ที่อาจจะไม่ได้ใช้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเดิมๆ ในไทย และเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนหลักๆ มาจากประเทศบ้านเกิด อันจะส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน และไม่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

ค่ายรถญี่ปุ่นยอดร่วง - BOI เร่งจีนปั้นซัพพลายเชน EV ค่ายรถญี่ปุ่นยอดร่วง - BOI เร่งจีนปั้นซัพพลายเชน EV

ประเด็นนี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอ มีนโยบายสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ EV ต่างๆ จัดหาชิ้นส่วนจากในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของค่ายรถยนต์เองแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

 

ล่าสุด เพื่อการผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ได้จัดกิจกรรม MG Sourcing Day โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 450 คน จาก 218 บริษัท

 

ในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ได้ร่วมเจรจาธุรกิจจำนวน 134 คู่ ครอบคลุมการจัดหาชิ้นส่วนกว่า 40 รายการ ตามความต้องการของ MG เช่น ชิ้นส่วนตัวถังรถ, ระบบส่งกำลังรถยนต์ (Powertrain), ชิ้นส่วนภายในรถยนต์, e-Compressor, Wire Harness รวมทั้งชิ้นส่วนในกลุ่มโลหะและพลาสติก

 

“การสร้างฐานอุตสาหกรรม EV หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาซัพพลายเชนในประเทศให้ครบวงจรและเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรม EV ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก”

 

นอกจากนี้ ยังเกิดการเชื่อมโยงลงมาถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยในกลุ่ม Tier 2-3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ไทยด้วย โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์และพัฒนาทักษะ จนสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสากลป้อนให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา จึงมั่นใจได้ว่าบริษัทเหล่านี้ พร้อมจะเป็นซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ