จีน รุกคืบชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV คว้ายอดขายอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่น

09 เม.ย. 2567 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 14:31 น.
698

ผู้ผลิตยานยนต์จีน ขึ้นแท่นผู้นำตลาด EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมียอดจองในไทยล่าสุดกว่า 17,000 คัน พร้อมแผนเปิดตัว “รถปิกอัพ” รุกคืบชิงส่วนแบ่งตลาดยานยนต์

Hozon New Energy Automobile Co แถลงในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมให้สัญญาว่าจะเพิ่มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสองเท่าในประเทศไทยเป็น 30,000 คันในปีนี้ โดยผู้ผลิตชาวจีนภายใต้นาม "Neta Auto" ที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยจนกระทั่งปีที่แล้ว แต่ด้วยโมเดลที่ทันสมัยและมีสไตล์ที่ดึงดูดใจคนหนุ่มสาว ทำให้ Hozon มียอดขายทะลุ 105,563 คันทั่วโลก ซึ่งเทียบได้กับยอดขายกว่า 3 ล้านยูนิตของบริษัท BYD ที่ถือว่าเป็นผู้นำตลาด

ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนไม่ได้แค่เสนอทางเลือกที่เหมาะสมให้กับตลาดเกิดใหม่เท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่พวกเขาเป็นเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รุ่นเก่าตั้งแต่ Toyota Motor Corp. ไปจนถึง Nissan Motor Co. ไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นอย่างที่ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนมี และแน่นอนว่าไม่มีราคาที่หลากหลาย เช่น ของ BYD ที่มีรถยนต์ไฟฟ้า EV ประเภท Hatchback ที่ถูกที่สุด โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์

ความนิยมรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในไทยลดลง โอกาสผู้ผลิตจีนหน้าใหม่ครองตลาด EV 

ในประเทศไทย บริษัท Toyota, Isuzu Motors Ltd. และผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นๆ ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามในตลาดที่พวกเขาครองมายาวนาน โดยส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดไทยเมื่อปีที่แล้วลดลงต่ำกว่า 80% หลังจากครองระดับดังกล่าวมาหลายปี ด้วยความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจาก Hozon ที่กำลังจะก้าวไปสู่จุดสูงสุด โดยได้มีการกล่าวถึงแผนที่จะเพิ่มผลผลิตเป็นสองเท่าของโรงงานแห่งใหม่ในไทย ซึ่งจะสามารถผลิต Neta ได้ 20,000 Neta ต่อปี พร้อมเสริมว่ามันจะเป็นจริงในไม่ช้า และไม่ต้องรอถึง 5 ปี

ในตลาดที่มียอดขายรถยนต์ประมาณ 800,000 คันต่อปี ถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ซึ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปีที่แล้วนั้น เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 76,000 คัน จากที่เคยน้อยกว่า 10,000 คัน ตามรายงานของ Tatsuo Yoshida นักวิเคราะห์ฯชาวญี่ปุ่น

โดยปัจจุบันแบรนด์จีนคิดเป็น 10% ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รุ่นเก่าของญี่ปุ่นสูญเสีย 8.2% ไปในปีที่แล้ว หลังจากได้รับส่วนแบ่งกว่า 80% มาหลายปี

แบรนด์รถยนต์จีน ชิง Market share เพิ่มขึ้นเป็น 10% ของตลาดทั้งหมด - Marklines, Bloomberg Intelligence

ส่องผลประกอบการงาน "บางกอก มอเตอร์โชว์ 2024" ยอดจองรถ EV ทะลุ 17,000 คัน

รายงานจาก บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยอดจองรถยนต์ในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2024 ที่จัดขึ้นระหว่าง 27 มีนาคม – 7 เมษายน ที่ผ่านมา รวมกันอยู่ที่ 53,438 คัน เพิ่มขึ้น 27.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1.61 ล้านคน

โดยแบ่งเป็นรถยนต์ EV ถึง 17,517 คัน คิดเป็นสัดส่วน 32.78% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมด และรถจักรยานยนต์ 5,173 คัน ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในก็ยังคงมีสัดส่วนยอดจองกว่า 35,921 คัน โดยรถยนต์ EV ของบริษัท BYD มียอดการจองภายในงานอยู่ที่ 5,345 คัน ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งในหมู่รถยนต์ไฟฟ้า

แรงกระเพื่อมจากการบูมของตลาด EV ในประเทศไทย 

การบูมของตลาด EV ในประเทศไทยอาจเป็นสัญญาณเตือนสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดที่แบรนด์ญี่ปุ่นครองตลาดมายาวนาน โดยมียอดขายและการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั่วประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น 18% เป็น 3.27 ล้านคันในปี 2565 ตามข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น นั่นทำให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอยู่ระหว่างอันดับ 4 ของญี่ปุ่นและอันดับที่ 5 ของเยอรมนี

ประเทศไทย “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”

ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับสมญานามว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) รวมถึงมีความพร้อมเรื่องเครือข่ายซัพพลายเออร์ ซึ่งสิ่งนี้ดึงดูดให้ BYD, Great Wall Motor Co. และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากแรงงานในท้องถิ่นและความรู้ความชำนาญในด้านนี้ เพื่อร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจ EV ให้เติบโตยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนไม่เพียงแต่มีการตั้งโรงงานในประเทศไทย แต่ยังส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่มายังประเทศไทยและส่งไปประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ อีกด้วย ซึ่งจีนได้แซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ผลิตยานยนต์หลายประเทศ ร่วมชิงส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV 

ประเทศอื่นๆ กำลังเปิดรับสิ่งจูงใจใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ด้านบริษัทจีนและเกาหลีใต้นั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยล่าสุด Isuzu และ Suzuki Motor Corp. เพิ่งสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไป และแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนเพียง 1% ของยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงถึง 14% ในปี 2573 และ 64% ในปี 2583

ด้าน Alibaba Group Holding ก็ได้ประกาศแผนการที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ปีนี้ ว่าจะเดินหน้าบุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเริ่มจัดส่งในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 

การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในประเทศไทย เป็นโครงการริเริ่มที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยรวมไปถึงเงินอุดหนุนมากถึง 150,000 บาท ต่อรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน รวมถึงมีการลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยที่ 27,352 บาท (ในปี 2564)

การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจีน

จากการประเมินของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า การเข้ามาของ EV จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคานั้น เป็นสาเหตุที่สำคัญกว่า เนื่องจากถือเป็นการผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก

นอกจากนี้ การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด EV ของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนเป็นตัวเร่งที่จะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น เนื่องจากจีนเริ่มมีการขยายวงกว้างไปยังตลาดรถปิกอัพ ซึ่งถือเป็นการรุกเป้าหมายในกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทย และมีแนวโน้มที่ปิกอัพไทยเสี่ยงถูกชิงตลาดเช่นกัน

ส่วนแบ่งการตลาดรถปิกอัพไทยบนความเสี่ยงที่มาจากตลาดรถจีน

จากโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลก พบว่า จีนมีการส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด และที่เหลืออีก 70% เป็นรถยนต์สันดาปภายในที่รวมไปถึงการส่งออกรถปิกอัพรวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดส่งออกปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทยในอนาคต

โดยในตลาดออสเตรเลีย ปี 2023 ปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ภายในเวลาเพียง 2-3 ปี จากยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ในออสเตรเลีย อันเป็นสัญญาณเตือนที่ฝั่งผู้ผลิตยานยนต์ไทยต้องตั้งรับ

ผู้ผลิตจีนบุกตลาดรถปิกอัพ รองรับภาคเกษตรกรรมของไทย

เมื่อพิจารณาจากขนาดของภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย พบว่ารถกระบะมีสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ ทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ซึ่ง Toyota และ Isuzu ถือว่ายึดครองตลาดดังกล่าวมาอย่างยาวนาน คิดเป็นรถกระบะ 4 ใน 5 คันจากประเภทรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิต

ทว่า ปัจจุบันเริ่มเกิดความขัดแย้งกับแบรนด์จีน เนื่องจากจีนก็ได้มีการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้รวมไปถึงรถปิกอัพด้วยเช่นเดียวกัน อย่างการเปิดตัวรถกระบะแบบไฮบริดของ Great Wall Motor Co. ในงานมอเตอร์โชว์ของไทยที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจและสร้างยอดขายในกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

พร้อมเผยแนวคิดที่ว่า รถกระบะไฮบริด จะสามารถมอบคุณค่าที่ดีกว่าให้กับลูกค้าที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นรถระดับพรีเมียมและหรูหรา ตามที่ Michael Chong ผู้จัดการทั่วไปของ Great Wall Motor Thailand ระบุ

นอกจากนี้ ยังเสริมอีกว่าการพัฒนารถกระบะไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของการผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นสู้กลับ รุกแผนเปิดตัวรถปิคอัพ EV 

Toyota ก็ได้ประกาศแผนที่จะเปิดตัวรถกระบะ EV Hilux ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2568 รวมไปถึง Isuzu เองก็ยังได้เปิดตัว D-Max ซึ่งเป็นรถกระบะ EV คันแรกในงานอีกด้วย แต่ยังได้รับการยืนยันสำหรับประเทศนอร์เวย์เท่านั้น ในขณะที่สำหรับตลาดอื่นๆ บริษัทจะต้องตรวจสอบก่อนว่าจะสามารถมอบมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประเภทใดได้บ้าง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ว่า ญี่ปุ่นจะสามารถกลับมาครองตลาดได้อีกครั้งหรือไม่

 

ขอบคุณที่มา : BloombergKKP Research