ค่ายยามาฮ่า หรือ ไทยยามาฮ่า ฉลองการดำเนินงาน 60 ปี ด้วยการจับมือกับภาครัฐ และภาคเอกชน พัฒนาและผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับเด็กเล็ก เยาวชน รวมถึงสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะขนาดเล็ก ให้ได้รับความปลอดภัย และลดการสูญเสียเมื่อสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ใช้รถจักรยานยนต์ ด้วยหมวกนิรภัยที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน มอก. 369-2557 ที่มีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อใช้งานจริงบนท้องถนน
สำหรับหมวกนิรภัยขนาดเล็กภายใต้ “โครงการหมวกกันน็อกยามาฮ่าขนาดเล็ก” (หมวกกันน็อกขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - มอก.) ได้มีการออกแบบโดย บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เน้นสีสันที่สดใส มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 54 เซนติเมตร เหมาะกับเด็ก และเยาวชน อายุระหว่าง 7 - 11 ปี หรือ สุภาพสตรีที่มีศีรษะขนาดเล็ก ควบคุมการพัฒนา และผลิตโดย บริษัท เอส.วาย.เค. ออโต้พาร์ต อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหมวกนิรภัยชั้นนำของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์สินค้า INDEX ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตหมวกนิรภัยตามมาตรฐานการผลิตเลขที่ มอก. 369-2557 ที่ถูกปรับปรุงใหม่
โดยบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด จะมีการผลิตจำนวน 12,000 ใบ และจะบริจาคส่งมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภายในปี 2567 โดยร่วมกับผู้จำหน่ายในแต่ละพื้นที่ในการส่งมอบหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานให้กับเด็ก และเยาวชน เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนต่อไป
นายพงศธร เอื้อมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า บริษัทฯ ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และการป้องกันอุบัติเหตุเพื่อลดการสูญเสีย ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนของรัฐบาลมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ของยามาฮ่า เช่น การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมขับขี่รถจักรยานยนต์ยามาฮ่า (YRA) การอบรมขับขี่ปลอดภัย การสนับสนุนหมวกนิรภัยให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ 60 ปี ของ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย จึงได้จัดโครงการหมวกกันน็อกยามาฮ่าขนาดเล็ก (หมวกกันน็อกขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - มอก.) เพื่อสานต่อโครงการ CSR เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนระดับประเทศ มาร่วมกันพัฒนา และผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และลดการบาดเจ็บสูญเสียบนท้องถนนของเด็ก และเยาวชนของชาติต่อไป
นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับไทยยามาฮ่าในครั้งนี้ว่า กรมฯ ขอสนับสนุน และขอขอบคุณทางบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และภาคเอกชนที่ร่วมจัดทำ โครงการหมวกกันน็อกยามาฮ่าขนาดเล็กเพื่อสังคม ซึ่งนับเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีโครงการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนขับเคลื่อน การรณรงค์เพื่อป้องกัน และลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทย ที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่เราทุกคนควรร่วมมือกัน
นายอุกฤษณ์ ภาควิวรรธ รองผู้จัดการใหญ่วางแผนการค้าและการตลาด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึง โครงการหมวกกันน็อกยามาฮ่าขนาดเล็ก (หมวกกันน็อกขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - มอก.) ในครั้งนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางท้องถนนอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ทางบริษัทฯ จึงได้ผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นพิเศษ “YAMAHA FINO FINAL EDITION” จำนวน 999 คัน ออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายไปพัฒนา และผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 12,000 ใบ ซึ่งถือเป็นการระดมทุนจากลูกค้าเพื่อลูกค้า และทางยามาฮ่าได้สมทบทุนเพิ่มเติม เพื่อให้สังคมนี้น่าอยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ร่วมมือกับร้านผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าทั่วประเทศ นำหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานการผลิต ไปบริจาคให้กับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ สถานศึกษา และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อให้กับเด็ก และเยาวชน รวมถึงสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะขนาดเล็ก ได้ใช้หมวกนิรภัยที่เหมาะสมกับขนาดของศีรษะ และได้ใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานการในการผลิต
นอกจากนี้ ยามาฮ่ายังได้รณรงค์การใส่หมวกนิรภัยด้วย โดยจัดทำ VDO รณรงค์การใส่หมวกนิรภัย เผยแพร่ในช่องทางต่างๆ ทั้งของบริษัทฯ และผู้จำหน่ายทั่วประเทศ รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการรับรู้ ให้ความรู้ และรณรงค์อย่างแพร่หลาย รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน
"หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้กิจกรรมเพื่อสังคมของไทยยามาฮ่ามอเตอร์ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นที่ให้ผู้ผลิตหมวกนิรภัยร่วมกันผลิตหมวกขนาดเล็กสำหรับเด็ก เยาวชน และสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่แท้จริง ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ให้เหมาะสมต่อไป”
นายองอาจ ฉัตรวรชัย ผู้จัดการ บริษัท เอส.วาย.เค. ออโต้พาร์ต อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับไทยยามาฮ่า ในการพัฒนา และผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยระบุว่า ปัจจุบันโรงงานของบริษัทฯถือเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูง และมีกำลังการผลิตกว่า 7,000 ใบ ต่อวัน มียอดขายเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
โดยในปี 2566 มียอดขายหมวกนิรภัยกว่า 1,000,000 ใบทั่วโลก และมียอดจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 700,000 ใบ ต่างประเทศประมาณ 300,000 ใบ และเป็นโรงงานในประเทศไทยที่ผลิตหมวกนิรภัยตามมาตรฐานการผลิตเลขที่ มอก. 369-2557 ที่ถูกปรับปรุงใหม่ โดยยึดถือมาตรฐานการผลิตของยุโรปคือมาตรฐาน ECE-2205 และมาตรฐานการผลิตจากสหรัฐอเมริกาคือมาตรฐาน DOT FMVSS-218 ซึ่งสามารถผลิต และจำหน่ายหมวกนิรภัยได้มาตรฐานส่งออกไปต่างประเทศ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้หมวกนิรภัยโดยทั่วไปที่ได้รับมาตรฐานนี้มีขนาดเล็กสุดเริ่มต้นที่เส้นรอบวงศีรษะ 50 เซนติเมตร ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทดลองผลิต และจำหน่ายหมวกขนาดเส้นรอบวงศีรษะขนาด 50 เซนติเมตร แล้วพบว่ายังไม่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานที่มีอายุน้อย หรือสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะเล็กเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีขนาดที่เล็กเกินไป โดยจะใช้ได้แต่เด็กเล็กที่ยังไม่เหมาะแก่การโดยสารรถจักรยานยนต์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับเพิ่มขนาดหมวกให้มีขนาดเส้นรอบวงศีรษะที่ 54 เซนติเมตร ทำให้เด็กที่มีอายุระหว่าง 7 - 11 ปี รวมทั้งสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะเล็ก สามารถสวมใส่ได้อย่างปลอดภัย
"จากโครงการของทางไทยยามาฮ่ามอเตอร์ในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ จะต่อยอดการผลิต และจำหน่ายหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับเด็ก เยาวชน และสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะขนาดเล็กในราคาที่เหมาะสม เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ ในการช่วยป้องกันการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน”
นายอนุรักษ์ ชัยวิเชียร ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมมาตรฐาน 6 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่างถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตและนำเข้าหมวกนิรภัย ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.369-2557 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล UNECE Regulation No. 22 โดยครอบคลุมหลายด้าน เพื่อประเมินความปลอดภัย และความทนทานของหมวกนิรภัย มีรายละเอียดการทดสอบ เช่น การทดสอบการดูดกลืนแรงกระแทก การทดสอบความคงรูป การทดสอบสายรัดคาง การทดสอบการคงตำแหน่งบนศีรษะ การทดสอบคุณลักษณะแผ่นบังลม (ถ้ามี)
โดยการทดสอบเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าหมวกนิรภัยที่ผ่านมาตรฐาน มอก. 369-2557 มีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อใช้งานจริงบนท้องถนน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดการกระแทกหรืออุบัติเหตุ ซึ่งมาตรฐานนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ซึ่งผู้ผลิต และผู้นำเข้าหมวกนิรภัย จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่จะผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายจ่ายแจก และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 อย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ บทลงโทษเป็นไปเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ สำหรับการเลือกซื้อหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ควรพิจารณาสังเกตเครื่องหมาย มอก. พร้อม QR Code ที่แสดงอยู่บนผลิตภัณฑ์หรือกล่องบรรจุ ที่ผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบรายละเอียดผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. ได้
"ในกรณีที่พบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนด สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมาที่ สมอ. ผ่านเว็บไซต์ www.tisi.go.th และอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หากเกิดอุบัติเหตุอาจได้รับอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่หากใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความสูญเสียลงได้”
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมว่า รู้สึกยินดีกับการมุ่งพัตนามาตรฐานหมวกนิรภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะหมวกนิรภัยขนาดเล็กเพื่อเด็ก เยาวชน และสุภาพสตรี ให้ได้ใช้หมวกนิรภัยที่ได้รับมาตรฐานการผลิต เพื่อลดการสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์บนท้องถนน
ทั้งนี้ประเทศไทยรับหลักการข้อตกลงของมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 74/299 “ประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัย ทางถนนในปี ค.ศ. 2021 – 2030” (Decade of Action for Road Safety 2021 - 2030) และได้ประกาศเป็นเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับปัจจุบันแล้วว่า มุ่งลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2570 คือเหลือเพียงประมาณ 8,000 กว่าราย
"เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือลดลงเกินครึ่งเร็วขึ้นกว่าข้อตกลงจากเวทีโลก โดยจากสถิติของการเกิดอุบัติเหตุในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ประมาณ 17,000 ราย กว่าร้อยละ 80 เกิดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการไม่สวมใส่หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก โดยในประเทศไทยมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 40 - 50% ซึ่งถือว่าน้อยหากเปรียบเทียบกันกับประเทศอื่นๆ "
นายแพทย์อนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่โดยสารรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีผู้ที่สวมหมวกนิรภัยเป็นจำนวนน้อยมากๆ การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์จึงมีความแตกต่างกัน โดยคนที่ไม่สวมหมวกนิรภัยเสียชีวิตมากกว่าคนที่สวมหมวกนิรภัยถึงร้อยละ 40% แปลว่า ถ้าคนไทยร่วมใจสวมหมวกนิรภัยมากขึ้น การเสียชีวิตโดยรวมของไทยน่าจะลดลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการรณรงค์ และบังคับให้ทุกคนสวมหมวกนิรภัย เป็นกุญแจสำคัญที่จะลดการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตบนท้องถนนได้ แต่การสร้างความมั่นใจว่าทุกคนจะได้สวมหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ไม่แพงเกินเอื้อม สามารถสวมใส่ และรัดคางได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเร่งด่วนมากในขณะนี้ เพื่อจะได้ไม่เพียงลดการเสียชีวิต แต่ยังคงปกป้องการกระทบกระเทือนต่อสมอง โดยเฉพาะสมองของเด็ก และเยาวชน