“พิมพ์ภัทรา” รุกดันไทยขึ้นแท่นฮับ "แบตเตอรี่ EV" อาเซียน

04 มี.ค. 2567 | 11:08 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 11:08 น.

“พิมพ์ภัทรา” รุกดันไทยขึ้นแท่นฮับ "แบตเตอรี่ EV" อาเซียน ชี้รัฐบาล และ BOI เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับทราบแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างซัพพลายเชนเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า 

รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม  และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนไทย ญี่ปุ่น จีน และยุโรป เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 
 

อีกทั้งยังมีมาตรการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการ EV3 อีกด้วย ส่วนการสร้าง Supply Chain ของแบตเตอรี่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน

“พิมพ์ภัทรา” รุกดันไทยขึ้นแท่นฮับ "แบตเตอรี่ EV" อาเซียน

มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเอื้อต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการหารือทราบว่าบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำลังวางแผนหาพาร์ทเนอร์และแหล่งผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายคือพัฒนาบริษัทในพื้นที่และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรักษามาตรฐาน
 

ขณะเดียวกันได้เปิดตัวสายการผลิตและในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดการอบรมนักศึกษาไทยให้เรียนรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงต้องการให้มั่นใจว่านโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมาตรการสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ทดสอบ และการรีไซเคิล 

“ปัจจุบันประเทศไทยเรามีความน่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการดูแลทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า”