ขั้นตอน ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ประจำปี 2567 แบบง่ายๆ

07 ม.ค. 2567 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2567 | 11:08 น.
7.6 k

กรมการขนส่งทางบก มีบริการ E-Service ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย-ประหยัดเวลา ให้กับประชาชน ในการยื่นชำระภาษีรถยนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ล่าสุดปี 2567 นี้ ถ้าจะต่อภาษีรถยนต์ประจำปีออนไลน์ เรามีขั้นตอนง่ายๆ อย่างไรบ้าง มาดูกัน

 

การชำระภาษีรถยนต์ประจำปี หรือ การต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากรถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นยังมีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี เจ้าของรถสามารถ ชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ ของ กรมการขนส่งทางบก ได้ทันที ส่วนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานนานกว่า 7 ปี สามารถยื่นชำระผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน แต่ต้องเจ้าของต้องนำรถไป “ตรวจสภาพรถ” จากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อน จึงจะสามารถชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ได้ ทั้งที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax 

หลักฐานการต่อภาษีรถออนไลน์

  1. สมุดคู่มือจดทะเบียนรถฉบับจริง หรือ สำเนา
  2. เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์-รถจักรยานยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ (หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) หรือสามารถซื้อพ.ร.บ. ได้จากระบบ
  3. ใบรับรองการตรวจสภาพรถที่ตรอ. สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนมาแล้วตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป (ส่วนมอเตอร์ไซค์ คือ 5 ปีขึ้นไป)
  4. เงินสำหรับอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522

หน้าเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก

ขั้นตอนการยื่นชำระ/ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ 

  • ไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th      
  • ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (สำหรับสมาชิกใหม่)       
  • Log-in เข้าสู่ระบบ             
  • ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี”             
  • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ เพื่อลงทะเบียนรถ แล้วยื่นชำระภาษี
  • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการเอาประกัน ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (กรณี พ.ร.บ. ที่มีความคุ้มครองมากกว่า 3 เดือน) หรือสามารถซื้อพ.ร.บ. ได้จากระบบ  
  • เลือกช่องทางการชำระเงินเพียง 1 ช่องทาง ได้แก่            
  1. ชำระเงินโดยหักบัญชีเงินฝาก (ต้องมีบัญชีเงินฝากและเป็นสมาชิกใช้บริการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกับธนาคาร/สถาบันการเงิน)            
  2. ชำระเงินโดยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต (เป็นผู้ถือบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA , Master Card) โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ให้บริการรับตัดบัตร      
  3. ชำระเงินโดยพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ ตู้ ATM หรือ Application ของธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ  
  • กรณีชำระเงินยังไม่สำเร็จ/ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”             
  • สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงิน โดยคลิกที่ ปุ่มเครื่องหมายพิมพ์ จะแสดงรายละเอียดการชำระเงินเป็นราย Reference   
  • กรมการขนส่งทางบก จะจัดส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และสมุดกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ตามที่อยู่จัดส่งเอกสารที่กรอกผ่านหน้าเว็บไซต์       
  • เจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปปรับบันทึกรายการชำระภาษีได้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

ส่วน การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax สามารถดาวน์โหลดแอปฯ เพื่อทำการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ โดยดาวน์โหลดได้ทั้ง Android (Google Play Store) และ IOS (App Store) จากนั้น ก็ดำเนินการตามกระบวนการในแอปพลิเคชัน

แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax หน้าจอไอโฟน

  • กรณีต่อภาษีรถประจำปีผ่านเว็บไซต์ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน ส่วนการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax สามารถเลือกช่องทางรับเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ภายใน 5 วันทำการ หรือสำหรับผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีได้ด้วยตนเองที่ตู้ Kiosk ที่ติดตั้งในสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครได้อีกหนึ่งช่องทาง

ตรวจสอบก่อนนะว่า ไม่มีค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร

ถ้าหากเจ้าของรถกดคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th จะพบประกาศกรมการขนส่งทางบกว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ระบบยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปีของกรมการขนส่งทางบก จะเชื่อมต่อกับระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบรถที่ค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร ดังนั้น หากประสงค์จะชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านระบบออนไลน์ ก็จะต้องชำระค่าภาษีประจำปี พร้อมค่าปรับใบสั่งจราจรที่ค้างชำระอยู่ (ถ้ามี) ซึ่งถ้าจำไม่ได้ว่า มีค้างค่าปรับใบสั่งหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบค่าปรับใบสั่งจราจรที่ค้างชำระได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/

นอกจากทางออนไลน์แล้ว ยังต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ไหนบ้าง

การต่อภาษีรถยนต์สามารถดำเนินการและชำระเงินได้ที่ กรมการขนส่งทางบก แต่ในปัจจุบัน ยังมีช่องทางอื่นๆ ในการดำเนินการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อมอบความสะดวกสบายและช่วยเพิ่มความรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งนอกจากทางออนไลน์และแอปพลิเคชันดังกล่าวมาแล้ว ยังสามารถเลือกดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้ 

  1. ไปที่กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งทั่วไทย ไม่ว่ารถยนต์คันนั้นจะจดป้ายทะเบียนไว้ที่จังหวัดใดก็ตาม ก็สามารถยื่นเอกสารเพื่อต่อภาษีได้ทุกพื้นที่
  2. ห้างสรรพสินค้าที่มีป้าย “Shop Thru for Tax”
  3. ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ
  4. ไดรฟ์ทรู “เลื่อนล้อต่อภาษี” (Drive Thru for Tax)
  5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  6. เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
  7. เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th
  8. แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax

ค่าใช้จ่ายในการต่อภาษีรถยนต์ คิดค่าใช้จ่ายอย่างไร

การคิดอัตราภาษีรถยนต์ มีดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายต่อภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน เช่น รถเก๋งทั่วไป หรือ กระบะ 4 ประตู

รถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือดำ เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง มีการคำนวณภาษีรถขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ โดยมีอัตราภาษีรถยนต์ต่อ cc ดังนี้

  • เครื่องยนต์ขนาด  1-600 c.c. อัตราภาษีต่อ cc 50 สตางค์
  • เครื่องยนต์ขนาด  601-1800 c.c. อัตราภาษีต่อ cc 1.50 บาท
  • เครื่องยนต์ขนาด  1801 c.c. อัตราภาษีต่อ cc  4 บาท

2.ค่าใช้จ่ายต่อภาษีรถเก่าจะมีค่าลดหย่อนภาษีรถยนต์ ดังนี้

  • รถยนต์ที่ใช้งานปีที่ 6 ลดหย่อนภาษีได้ 10%
  • รถยนต์ที่ใช้งานปีที่ 7 ลดหย่อนภาษีได้ 20%
  • รถยนต์ที่ใช้งานปีที่ 8 ลดหย่อนภาษีได้ 30%
  • รถยนต์ที่ใช้งานปีที่ 9 ลดหย่อนภาษีได้ 40%
  • รถยนต์ที่ใช้งานปีที่ 10 และปีต่อๆไป ลดหย่อนภาษีได้ 50%

3.ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อใช้ระบบต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์

  • ค่าจัดส่งเอกสาร รายการละ 32 บาท
  • ค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 20 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร (กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต) ร้อยละ 2 รวม VAT 7% ของค่าธรรมเนียม

อัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.

สำหรับรถยนต์ ขึ้นอยู่กับประเภทรถ (ไม่รวมVAT 7%) ดังนี้

  1. รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน 600 บาทต่อปี
  2. รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาทต่อปี
  3. รถยนต์โดยสารเกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาทต่อปี
  4. รถยนต์โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาทต่อปี
  5. รถยนต์โดยสารเกิน 40 ที่นั่ง 3,740 บาทต่อปี
  6. รถยนต์ไฟฟ้า 600 บาทต่อปี