สรุปมาตรการอุดหนุน ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ลดสูงสุด 1 แสนบาท

02 พ.ย. 2566 | 04:48 น.
6.7 k

บทสรุปมาตรการสนับสนุน ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 EV 3.5 มอบส่วนลดสูงสุด 1 แสนบาท เช็คเงื่อนไขรถประเภทใดได้เงินอุดหนุนสูงสุด พร้อมตรวจสอบมาตรการ EV 3.0 ส่วนลด 1.5 แสนบาท ขยายเวลาหรือไม่ เช็ครายละเอียดที่นี่

ในที่สุดก็ได้บทสรุปของมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา หลังจากก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้เดินหน้าตามมาตรการ EV3.0 ที่มอบส่วนลดสูงสุดให้กับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ โดยส่วนลดสูงสุดที่ได้คือ 1.5 แสนบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และทางบอร์ดอีวี ก็ได้นำเสนอมาตรการต่อเนื่อง EV 3.5 ทั้งนี้เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย 30@30 ภายในปี 2573 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

อย่างไรก็ดีก่อนจะไปดูมาตรการสนับสนุนซื้อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 "ฐานเศรษฐกิจ"ก็ขออัพเดตมาตรการ EV 3.0 กันก่อน เพราะตัวมาตรการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566  ซึ่งผลการประชุมของบอร์ดอีวีและนายกรัฐมนตรีเมื่อวาน ก็ได้มีการเคาะขยายเวลา จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ก็ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567

เอาเป็นว่าใครที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้ ก็ยังมีเวลาให้ไตร่ตรองเพราะในช่วงส่งท้ายปลายปี จะมีอีเวนต์ใหญ่อย่างงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 หรือ มหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะมีแคมเปญโปรโมชันออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด

ค่ายรถอัดแคมเปญส่งท้ายมาตรการ EV3.0

ค่ายรถอัดแคมเปญส่งท้ายมาตรการ EV3.0

ค่ายรถอัดแคมเปญส่งท้ายมาตรการ EV3.0 ค่ายรถอัดแคมเปญส่งท้ายมาตรการ EV3.0

ส่วนใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าให้ทันตามมาตรการ EV 3.0 ก็ไม่เป็นไร เพราะในปีหน้ามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ก็จะเดินหน้ากันต่อ ซึ่งบทสรุปของ EV3.5 จะมีรายละเอียดเงื่อนไขอย่างไร กรอบระยะเวลาถึงปีไหน "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอดังต่อไปนี้

มาตรการสนับสนุนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV3.5 

  • กรอบเวลาตั้งแต่ปี 2567 -2570 (ระยะเวลา 4 ปี)

เงินอุดหนุนตามมาตรการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV3.5 

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh 
  • รับเงินอุดหนุน  ระหว่าง 50,000 - 100,000 บาท/คัน 

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh 
  • รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000 – 50,000 บาท/คัน

รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh 
  • รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000 - 100,000 บาท/คัน  

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท 

  • ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh 
  • รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000 - 10,000 บาท/คัน

สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EV 3.5 

รถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • ลดอากรนำเข้าCBUไม่เกินร้อยละ 40 ในช่วง 2 ปีแรก ( 2567 – 2568)
  • ลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

  • ลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 


มาตรการ EV 3.5

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 

  • ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 สามารถเข้าร่วม EV 3.5 ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย

เงื่อนไขการลงทุนในประเทศสำหรับมาตรการ EV3.5 

  • ผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยการนำเข้า ในอัตราส่วน 1:2 ภายในปี 2569 ยกตัวอย่างนำเข้ามา 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 2 คัน (มาตรการเดิม EV3.0 นำเข้ามา 1 คัน ผลิตชดเชย 1คัน เริ่มผลิตภายในปี 2567 ) และเพิ่มอัตราส่วน 1:3 ภายในปี 2570 กล่าวคือนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 3 คัน 
  • แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป CBU ที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)
  • เงื่อนไขการใช้แบตเตอรี่และชิ้นส่วนเป็นไปตามมาตรการ EV 3.0 

มาตรการ EV3.5

อนึ่ง บีโอไอ หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้สรุปความสำเร็จของมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก EV 3.0 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

  • มีผู้เข้าร่วมมาตรการรวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 
  • ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6 เท่า 
  • นับตั้งแต่ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2560 เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

 

เดินไปสู่เป้าหมาย 30@30 ภายในปี 2573 ดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค