อินโดฯประกาศตัว ฮับยานยนต์ไฟฟ้า นำทัพ EV กว่า 6,000 คัน! ใช้ใน G20 ซัมมิต

01 ก.ย. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2565 | 16:46 น.
527

รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมรถยนต์ EV กว่า 6,000 คันมาใช้ในการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาะบาหลี กลางเดือน พ.ย. นี้ ประกาศศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

นายมารุฟ อามิน รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เปิดเผยวานนี้ (31 ส.ค.) ว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้จัดเตรียม รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 6,161 คันเพื่อเป็นยานพาหนะหลักใน การประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ ที่เกาะบาหลี 

 

"เราจะใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายแบรนด์ ซึ่งได้แก่ Hyundai, Wuling และ Lexus" นายอามินกล่าว

 

สำนักข่าวอันตารา (Antara) สื่อแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ใน การประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้ จะมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทต่าง ๆ มาใช้เป็นจำนวนมาก โดยรถยนต์ EV สำหรับบุคคลวีไอพี ประกอบด้วย

  • Lexus UX 300e จำนวน 134 คัน
  • Hyundai Genesis G80 จำนวน 46 คัน 
  • Wuling EV จำนวน 300 คัน

Genesis G80 ของบริษัทฮุนได

นอกจากนี้ อินโดนีเซียจะใช้รถยนต์ EV จำนวน 290 คันเพื่อเป็นรถนำขบวนในการประชุมดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลยังได้เตรียมติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV จำนวนหลายร้อยสถานีเพื่อการนี้

นายอามิน รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า นับจากงานประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก อินโดนีเซียจะถือเป็นโอกาสอันดีแสดงความมุ่งมั่นของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 ล้อและ 2 ล้อ ภายในประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ในปี 2562 ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีหมายเลข 55 กำหนดเป้าหมายการเร่งกระบวนการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบขนส่งของประเทศ โดยระบุว่าภายในปี 2568 อินโดนีเซียตั้งเป้าว่าจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) บนท้องถนนของประเทศจำนวน 2 ล้านคัน จากนั้น ตั้งเป้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน 2.2 ล้านคันและจักรยานยนต์ไฟฟ้า 13 ล้านคัน ภายในปี 2573

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย

จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียพบว่า ณ เดือน ก.ค. 2565 มีรถ EV ที่ได้รับการรับรองผ่านการทดสอบการใช้งานในอินโดฯจำนวน 22,671 คัน เป็นการเพิ่มขึ้น 41.16% (หรือเพิ่ม 6,611 คัน) เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ปีเดียวกันที่มีเพียง 16,060 คัน

   

ยุทธศาสตร์การผันตัวเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซียซึ่งมีจุดเด่นด้านทรัพยากรแร่นิเกิลที่อุดมสมบูรณ์สำหรับป้อนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้านั้น ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก อาทิ บริษัท โตโยต้า จากญี่ปุ่น ที่วางแผนลงทุน 1,800 ล้านดอลลาร์, บริษัท แอลจี จากเกาหลีใต้ มีแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่มูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ , บริษัท แอมเพเร็กซ์ ประกาศลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ และบริษัท ฮุนได ประกาศแผนลงทุนกว่า 1,550 ล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์อีวี เป็นต้น