ปตท.ปั้นธุรกิจ EV ลุยลงทุนครบวงจร หลังเพิ่มงบ 5 หมื่นล.

17 มิ.ย. 2565 | 18:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 01:29 น.
716

ARUN PLUS กลุ่ม ปตท. เปิดโมเดลธุรกิจ EV มุ่งสร้าง EV Ecosystem ในไทย งัดงบใหม่ 5 หมื่นล้าน ลุยลงทุนตั้งแต่ โรงงานผลิตรถ EV , แบตเตอรี่ , สถานีชาร์จรถ EV และบริการเสริม ตั้งเป้าหนุนไทย ขึ้นแท่น ฐานผลิตรถ EV ของโลก

17 มิถุนายน 2565 - นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวที  :  เปิดแผนธุรกิจรุกตลาด EV งานเสวนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า  ปัจจุบันบริษัทเห็นโอกาส และ เทรนด์ความต้องการ ในกลุ่มยานยนต์ EV ที่เร่งตัวขึ้นมากในประเทศ จาก 4 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ 
 

  1. แนวโน้มการปรับตัวของผู้บริโภคและภาคธุรกิจไปสู่การใช้พลังงานสะอาด
  2. การเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้นทุนมีราคาถูก ผู้บริโภคเข้าถึง รถ EV ได้มากขึ้น 
  3. การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของไทยต่อเป้าหมายใหญ่ ยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศโลกอย่างเต็มที่ ในเวที COP26 ของนายกรัฐมนตรี
  4. มาตรการส่งเสริมรถ EV ผ่านนโยบายของภาครัฐ เช่น การลดภาษีนำเข้า  ,แจกเงินอุดหนุนการซื้อรถ EV เป็นต้น 
     

ทั้งนี้ ในฐานะกลุ่ม ปตท. เดิมมีส่วนสำคัญในการสร้างมั่นคงให้อุตสาหกรรมพลังงานและเชื้อเพลิงยานยนต์ให้กับประเทศอยู่แล้ว จึงเห็นโอกาส ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปสู่ ยานยนต์ EV อย่างเต็มตัว และจะเป็นทิศทางที่สำคัญของ ปตท.ในอนาคตด้วย ผ่านการลงทุนในหน่วยธุรกิจ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) หวังเป็นส่วนสนับสนุน EV Ecosystem ให้กับประเทศไทย ไปสู่เป้าหมาย ศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของโลก สานต่อ เบอร์ 1 ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ระดับโลก 

ปตท.ปั้นธุรกิจ EV ลุยลงทุนครบวงจร หลังเพิ่มงบ 5 หมื่นล.

เปิด 6 กลยุทธ์ ปตท.ปั้นธุรกิจรถ EV 

  • ธุรกิจแบตเตอรี่ เช่น การจับมือกับ GPSC ภายใต้ “NUOVO PLUS”
  • ธุรกิจผลิตรถ EV ซึ่งจะผลิตทั้งกลุ่มรถมอเตอร์ไซต์ (2ล้อ) ,รถยนต์ EV และ E Bus อีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทได้ร่วมทุน Foxconn เปิดโรงงาน การผลิต ผ่านบริษัทลูก ฮอริษอน พลัส จำกัด(Horizon Plus) ตั้งเป้า ผลิตรถ EV ราว 50,000 คันต่อปี ขณะในปี 2567 อาจมีการเพิ่มกำลังการผลิตมากถึง 150,000 คันต่อปี 
  • ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับรถ EV (EV sevice platform) ภายใต้ชื่อ EV ME เช่น บริการทดลองใช้รถ EV ก่อนตัดสินใจซื้อ ผ่านรถ EV หลายยี่ห้อ ที่มีขายในประเทศไทย 
  • ธุรกิจ EV Charger เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้ รถ EV ได้มากขึ้น 
  • ธุรกิจ Swapping Station  ผ่าน Swap & Go ซึ่งเป็นการให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ เพื่อแก้จุดบอด การชาร์จรถนาน หรือ จุดชาร์จ สถานีชาร์จไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมา ทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ และมีการทดลองใช้ ผ่านจุดชาร์จราว 22 จุด รถ EV 100 คัน ปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ คาดหน่วยธุรกิจจะได้รับการตอบรับสูงจากธุรกิจเดลิเวอรี่ 
  • ธุรกิจบริการบำรุงซ่อมรักษารถ EV และ แบตเตอรี่ เป็นการบริการหลังการขาย ที่สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

ปตท.ปั้นธุรกิจ EV ลุยลงทุนครบวงจร หลังเพิ่มงบ 5 หมื่นล.
"เราตั้งใจเป็น EV Ecosystem Player เพราะฉะนั้น เราจะพยายามกระจายหน่วยธุรกิจเพื่อให้เกิดความแข็งแรง และเป็นส่วนส่งเสริมให้ไทยหันมาใช้ รถ EV มากขึ้น จากหน่วยธุรกิจทั้ง 6 ส่วน นับเป็นแพลตฟอร์มใหญ่เชื่อมโยงอย่างครบวงจร ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของเรา ยังมาจากการดึงผู้เล่นระดับโลก ในแต่ละส่วนเข้ามาร่วมด้วย โดยเป้าหมายสูงสุด คือ การผลักดันให้ไทยก้ามไปสู่ ฐานการผลิตรถ EV ที่สำคัญของโลก "

 

นายนพดล ยังกล่าวว่า การเข้ามาลงทุนใน EV Ecosystem อย่างเต็มตัว ถือเป็นหัวใจสำคัญของ ทิศทางธุรกิจ ปตท.ในอนาคต โดยล่าสุด ปตท.ยังมีการปรับแผนลงทุนปี 2565 เพิ่มงบลงทุนราว  5 หมื่นล้านบาทนั้น ในธุรกิจ EV และธุรกิจยาอีกด้วย