สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน

05 พ.ค. 2565 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 22:24 น.

สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ลงนาม MOU นำร่องโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน หนุนใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ตั้งเป้าปี 93 ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ และการเริ่มโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัย โดยบทบาทเอ็นเทค สวทช. ที่ร่วมงานกับทาง UNEP ในการส่งเสริมการใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตั้งแต่เฟส 1 มีการสร้างโมเดลภาคขนส่งพื้นฐานของประเทศและภาพฉายในอนาคตที่จะมีการส่งเสริมให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประกอบแนวทางนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งในเฟส 2 จะได้มีการขยายผลการใช้งานวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมในลำดับต่อไป

 

สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน


 สำหรับโครงการเฟส 2 นี้ จะโฟกัสการนำร่องการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ โดยได้รับความร่วมมือจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท The Stallions ที่ประสบความสำเร็จในการนำร่องใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ยี่ห้อ “ENGY” ภายในพื้นที่ กฟผ และวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า กว่าร้อยคัน เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานจริงประกอบการร่างนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งในโครงการเฟส 2 นี้จะมีคณะกรรมการโครงการคัดเลือกวินมอเตอร์ไซด์ 50 คนเข้าร่วมอบรมในโครงการ เพื่อให้สามารถใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อประกอบอาชีพประจำวัน โดยจะมีการติดตามเก็บข้อมูลด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นระยะเวลา 1 ปี ข้อมูลด้านรูปแบบการขับขี่ การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การใช้พลังงาน ปริมาณมลพิษที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง จะถูกวิเคราะห์ เพื่อสร้างโมเดลที่เหมาะสมในการขยายผลวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งเพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าบทบาท กฟผ. ในการสนับสนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้มีการกำหนดฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 กว่า 31 รุ่น รวมถึงยี่ห้อ ENGY ของ กฟผ ที่ได้มีการใช้งานกว่า 51 คันในพื้นที่ กฟผ ทั่วประเทศไทย และอีก 51 คัน สำหรับวินมอเตอร์ไซด์ในบริเวณ อ. บางกรวย จ. นนทบุรี 

สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน

 


 Dr. Mushtaq Memon กล่าวว่า บทบาท UNEP ที่ช่วยขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อ ภายใต้ Global Electric Mobility Program โดยได้มีการนำร่องการใช้งานใน 6 ประเทศ จาก 2 ภูมิภาค ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม เอธิโอเปีย เคนยา และยูกันดา โดยในประเทศไทยจะมีความร่วมมือกับทาง เอ็นเทค เพื่อขับเคลื่อนการนำร่องใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ  

สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน

 


Mr. Li Yao ประธานบริษัท TAILG กล่าวว่า บทบาทที่ TAILG ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับทาง UNEP ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยได้มีความร่วมมือกับ China Quality Certification Center (CQC) ในการก่อตั้ง Low Carbon Mobility Research Institute เพื่อสนับสนุนเชิงเทคนิคด้านการทดสอบตามมาตรฐาน

 

สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน

 

นางสาวอารีรัตน์ ศรีประทาย กรรมการผู้จัดการบริษัท Stallions กล่าวว่า บทบาทที่ Stallions ได้ช่วย กฟผ ดำเนินการนำร่องโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในด้านการฝึกอบรมการใช้งาน การบำรุงรักษา และการติดตามประเมินผลการใช้ร่วมกับวินมอเตอร์ไซด์ในพื้นที่บางกรวย 
สวทช.-กฟผ.จับมือเอกชนไทย-จีน ผุดโปรเจคต์วินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า 50 คัน

ทั้งนี้ประเทศไทย UNEP ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการ “Mainstreaming Electric 2 and 3 Wheelers in Thailand” ซึ่งในเฟสแรก ได้มีการโฟกัสกับการพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ขนส่งไฟฟ้าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อ ในไทย โดยการประเมินภาพขนส่งพื้นฐานของประเทศและภาพฉายในอนาคตที่จะมีการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี 2593

 

 


อย่างไรก็ตามการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้มาจากการสนับสนุนของ International Climate Initiative (IKI) โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณู และการปกป้องผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, Nuclear Safety and Consumer Protections: BMUV) โครงการ “Integrating Electric 2&3 Wheelers into Existing Urban Transport Modes in Developing and Transitional Countries” แก่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) เพื่อพัฒนาโปรแกรมใน 6 ประเทศ จาก 2 ภูมิภาค ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม เอธิโอเปีย เคนยา และยูกันดา เพื่อผนวกยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อเข้ากับขนส่งสาธารณะ โดยกรอบนโยบายที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นแบบอย่างในการขยายผลไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค  ภายใต้ Global Electric Mobility Program ของ UNEP บริษัท Shenzhen Shenling Car Company Limited (หรือที่รู้จักในนาม TAILG) ได้เข้าร่วมเป็นภาคี โดยได้บริจาครถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ ได้แก่ เคนยา ยูกันดา และ ฟิลิปปินส์ เพื่อสร้างความตระหนักด้านการขนส่งไฟฟ้า และเก็บข้อมูลที่สำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่างนโยบายต่อไป