รัฐบาลยื้อแพ็กเกจหนุน EV คันละ 1.5 แสนบาท ถึงเดือนมี.ค. ฉุดตลาดรถไตรมาสแรก

12 ก.พ. 2565 | 16:10 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 23:22 น.
2.1 k

ตลาดรถยนต์สะดุด เมื่อแพ็กเกจหนุนการซื้อรถพลังงานไฟฟ้า EV ลากยาว ไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดต้องรอไปจนถึงกลางเดือนมีนาคมนี้

ประชาชนรอเก้อ ค่ายรถมึน เมื่อแพ็กเกจส่งเสริมให้เกิดการใช้ รถพลังงานไฟฟ้า EV ในวาระเร่งด่วนระหว่างปี พ.ศ.2565-2566 ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลังจาก “บอร์ดอีวี” และกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ได้สรุปสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่ปลายปี 2564 

 

ขณะเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดอีวี เปิดเผยในช่วงเวลานั้นว่า แพ็กเกจสนับสนุน EV หากเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ทันในปลายปี 2564 ก็จะถูกบรรจุเข้าไปพิจารณาในเดือนมกราคม 2565

รัฐบาลยื้อแพ็กเกจหนุน EV คันละ 1.5 แสนบาท ถึงเดือนมี.ค. ฉุดตลาดรถไตรมาสแรก

สุดท้ายจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านไป 2 นัด วาระ EV ยังไม่มีความคืบหน้า โดยแหล่งข่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แพ็กเกจส่งเสริมให้เกิดการใช้ EV อาจจะถูกลากยาวไปถึงกลางเดือนมีนาคม นี้

 

ทั้งนี้ การปรับปรุงแพ็กเกจสนับสนุน EV ล่าสุด ในกลุ่มรถยนต์ มีรายงานว่า EV ที่ราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท บริษัทรถยนต์จะได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% (ปี2565- 2568)และรับเงินอุดหนุน (ปี 2565-2568) แยกเป็นวงเงิน 70,000 บาท สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และวงเงิน 150,000 บาท สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไปแต่มีเงื่อนไขว่า ค่ายรถที่รับสิทธิประโยชน์นี้ ต้องผลิต EV ในประเทศในอัตราส่วน (จำนวนคัน) เท่ากับปริมาณที่นำเข้ามาขายในปี 2567

 

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ได้รับผลกระทบจากข่าวที่รัฐบาลจะสนับสนุนเงิน 1.5 แสนบาทต่อคัน ให้กับผู้ซื้อรถพลังงานไฟฟ้า EV  ทำให้ลูกค้าที่จองรถไว้แล้วชะลอการรับรถ เพื่อรอมาตรการนี้ ส่วนลูกค้าที่ตั้งใจซื้อรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็รอดูเช่นกัน เพราะถ้าหาก EV ได้ส่วนลดเยอะจริงๆ อาจจะเปลี่ยนไปซื้อ EV

“ตอนนี้ กลายเป็นภาวะสุญญากาศของตลาด EV เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ออกประกาศอะไรออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ตลาดรถชะงัก เพราะเงินสนับสนุน 1.5 แสนบาทกับ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมแพ็กเกจนี้ ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี”

 

สำหรับนโยบายสนับสนุน EV ของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการจะไปให้ถึงเป้าหมาย 30@30 คงต้องใช้พลังในการบูสต์หลายอย่างเพื่อสร้างดีมานด์ จากปัจจุบันที่มีเครื่องมือหลักคือ ภาษีสรรพสามิต โดยในปี 2564 ยอดขาย EV รวมมีประมาณ 1,900 คัน ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดรวม และห่างไกลกับเป้าหมายในปี 2573

รัฐบาลยื้อแพ็กเกจหนุน EV คันละ 1.5 แสนบาท ถึงเดือนมี.ค. ฉุดตลาดรถไตรมาสแรก

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่มีข่าวเรื่องแผนการส่งเสริม EV แต่รัฐบาลยังไม่ประกาศออกมา ทำให้ตลาดชะลอตัว ลูกค้าต่างรอรับสิทธิประโยชน์นี้ ทั้งกลุ่ม EV และ ตลาดรถ ICE ระดับซีเซ็กเมนต์ หรือกลุ่มราคากว่า 1 ล้านบาท

 

“แม้ตอนนี้รถพลังงานไฟฟ้า EV มีปริมาณการซื้อที่ไม่สูงมาก และถ้าคนแห่มาซื้อเยอะๆ รถก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดได้มาก เพียงแต่การไม่ประกาศเงื่อนไขสนับสนุนออกมาให้ชัดเจน ย่อมกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถใหม่ของผู้บริโภค” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวสรุป

 

ส่วนตลาดรถยนต์เดือนมกราคม 2565 ปิดยอดขายประมาณ 6.7 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเดือนกันของปี 2564 ที่ทำได้ 5.5 หมื่นคัน แม้จะเป็นตัวเลขเติบโต แต่โตจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว เพราะช่วงเวลานั้นอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่