เบนซ์ดันไทยฐานผลิต EV เริ่มประกอบ EQS ปี 2565

24 พ.ย. 2564 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2564 | 19:57 น.
2.3 k

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศลงทุนแบบ Super Investment ในไทย ด้วยการตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ ที่ จ.สมุทรปราการ ถือเป็น 1 ใน 7 โรงงานแบตเตอรี่ของเบนซ์ในโลก รองรับรถปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV ประเดิมขึ้นไลน์ผลิต EQS ในปี 2565 เล็งเสริมทัพรุ่นใหม่และหวังส่งออกในอนาคต

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เดินหน้าตามแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งประเภท ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV โดยปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมเปิดตัว Mercedes-Benz S-Class โฉมใหม่ W223 รุ่นปลั๊ก-อินไฮบริด S 580 e  AMG Premium ประกอบในประเทศ ส่วนปีหน้า C-Class โฉมใหม่ W206 จะมีรุ่นปลั๊ก-อินไฮบริด ประกอบในประเทศเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ที่สอดคล้องกับนโยบายระดับโลกของบริษัทแม่ คือการมุ่งสู่ EV 100% ในปี 2030 และไทยจะเป็นประเทศลำดับแรกๆ ของโลก ที่ได้ประกอบรถแบรนด์ EQ กับรุ่น EQS ในปี 2565

เบนซ์ดันไทยฐานผลิต EV เริ่มประกอบ EQS ปี 2565

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะใช้สิทธิ์นำเข้า EQS โดยไม่เสียภาษีนำเข้ามาก่อนจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ปลายปี 2564 ตามเงื่อนไขของ BOI (เป็นเงื่อนไขที่ให้มานานแล้ว สำหรับผู้ที่มีแผนประกอบ EV ในไทย) และคาดว่า EQS ล็อตแรกที่ได้สิทธิพิเศษนี้จะมีหลักหลายสิบคัน

 

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะนำเข้า EQS จากโรงงานผลิตประเทศเยอรมนี เพื่อมาอวดโฉม พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมร่วมกับดีลเลอร์ ลูกค้า และสื่อมวลชน ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ ก่อนที่ EQS รุ่นประกอบในประเทศจะเริ่มในครึ่งหลังของปี 2565 พร้อมการขายอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศ ไทย ยังแต่งตั้ง 4 เอ็กซ์คลูซีฟดีลเลอร์ คือ บีเคเค, ทีทีซี, ไพรม์มัส และเบนซ์ พระราม 3 เพื่อดูแลการขายและบริการหลังการขายรถแบรนด์ EQ โดยเฉพาะ

 

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เป้าหมายของบริษัทแม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ในการเป็นผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้า EV ในปี 2030 ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการขาย EV 100% ในปี 2035 ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการ “กีฟ แอนด์ เทค” ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย

เบนซ์ดันไทยฐานผลิต EV เริ่มประกอบ EQS ปี 2565

“กลุ่มรถยนต์หรูทำให้เกิด EV และเป็นผู้นำเทคโนโลยีเข้ามาผลิตในประเทศไทย ซึ่งเราไม่ต้องการถอยหลังกลับไปเป็นผู้นำเข้า EV เพราะเป้าหมายเราคือการลงทุนในประเทศ เราจริงจังกับการสร้างฐานผลิต EV ในไทย เห็นได้จากการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เป็น 1 ใน 7 แห่งในโลก นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, จีน”

 

“เราให้ความสำคัญกับการลง ทุนในไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทยเปรียบเสมือน Super Investment และคิดถึงแผน การส่งออกด้วยซํ้าไป ปัจจุบันเรายัง พูดคุยกับรัฐบาลไทย และบริษัทแม่ว่าจะก้าวสู่สเต็ปต่อไปอย่างไร” นายโฟล์เกอร์ กล่าวสรุป

สำหรับ EQS เป็นแฟลกชิปโมเดลในกลุ่ม EV ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ พัฒนาบนแพลตฟอร์ม EV โดยเฉพาะ หรือต่างจาก W223 รุ่นปลั๊ก-อินไฮบริด และเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งสามารถวิ่งได้ไกล 770 กม.จากแบตเตอรี่ความจุ 107.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง

เบนซ์ดันไทยฐานผลิต EV เริ่มประกอบ EQS ปี 2565

ด้านยอดขายเมอร์เซเดส-เบนซ์ หลังผ่านไป 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย. 64) ทำได้รวมกว่า 7,000 คัน โต 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย โดยต้องรอว่าสุดท้ายแล้ว สองค่ายเยอรมนีใครจะเป็นแชมป์รถหรูในปีนี้

 

ล่าสุด บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จัดงานเปิดตัว EV สองรุ่นอย่างเป็นทางการ นั่นคือ BMW iX3 นำเข้าจากจีน ราคา 3.399 ล้านบาท และ iX นำเข้าจากเยอรมนีราคา 5.999 ล้านบาท

 

สำหรับ BMW iX xDrive50 Sport มีมอเตอร์ 2 ตัวขับเคลื่อนล้อหน้าและหลัง ให้กำลังรวม 523 แรงม้า แรงบิด 765 นิวตัน-เมตรให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4.6 วินาที พร้อมแบตเตอรี่ 111.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 630 กม. มาตรฐาน WLTP

 

ส่วน BMW iX3 M Sport มีมอเตอร์ตัวเดียวขับเคลื่อนล้อหลัง ให้กำลัง 286 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม.ชม. 6.8 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 180 กม./ชม.ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 460 กม.ตามโหมด WLTP