นิสสัน ไทย เขย่าองค์กรอีกรอบ นาวารา-อัลเมร่า โมเดลแห่งความหวัง

11 ก.พ. 2564 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2564 | 12:33 น.
30.2 k

นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เตรียมปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนผู้บริหารอีกรอบ หลังจากบริษัทแม่ยุบหลายบริษัท จนต้องเขย่ามารวมที่ไทย ส่วนยอดขายปี 2563 ร่วง 30.8% กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Kicks Nissan Leaf ยังเข็นไม่ขึ้น

ช่วงกลางปี 2563 นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแผนฟื้นฟูธุรกิจปีงบประมาณ พ.ศ. 2563- 2566 ตั้งเป้ารีดไขมัน ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น โดยปิดบางโรงงาน ลดความสำคัญในบางตลาดเช่น ยุโรป และมุ่งสู่ตลาดที่แข่งขันได้อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายใต้แผนงานนี้นิสสันหวังลดต้นทุนคงที่ลง 9 หมื่นล้านบาท ลดกำลังผลิต 20% เหลือ 5.4 ล้านคัน/ปี และลดจำนวนรุ่นรถยนต์ทั่วโลกเหลือ 55 รุ่น จากเดิม 69 รุ่น

การที่ นิสสันปิดโรงงานผลิต ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน และอินโดนีเซีย รวมถึงการปรับธุรกิจในหลายประเทศ ตลอดจนแผนปรับโครงสร้างของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (NMAP) ทำให้เกิดการโยกย้าย และปรับลดพนักงานหลายอัตรา และในจำนวนนี้ถูกส่งมาทำงานในไทย ซึ่ง นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ต้องมีส่วนในการรองรับแผนงานนี้ มากไปกว่านั้น ยังมีคำถามเกี่ยวกับตำแหน่งประธานคนปัจจุบัน ราเมช นาราสิมัน ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

นิสสัน ยํ้าเสมอว่า ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งเดียวในอาเซียน ล่าสุดลงทุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เริ่มต้นจาก นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ไม่รวมโครงการอีโคคาร์เฟส 2 กับ อัลเมร่า โฉมใหม่ และการผลิตปิกอัพ นาวารา ที่เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ในรอบ 6 ปี

ทั้งนี้ ปลายปี 2563 โรงงานผลิตรถยนต์นิสสัน จ.สมุทรปราการ ถนนบางนา-ตราด กม.21-22 ประกาศรับสมัครงานเพิ่ม 2,000 อัตรา ที่สำคัญการหยุดผลิตรถยนต์ 3 รุ่นคือ ซิลฟี เทียน่า และเอ็กซ์เทรล ทำให้โรงงานสามารถดึงกำลังผลิตส่วนนี้ มาให้รถยนต์รุ่นอื่นๆได้ เช่น นิสสัน คิกส์ (ส่งออก 60% ขายในประเทศ 40%)

เมื่อดูสถานการณ์การขายของนิสสันในปี 2563 ยังพบว่า พระเอกของแบรนด์อยู่ที่ อัลเมร่า โฉมใหม่ ทำได้ 19,032 คัน โต 8.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากตลาดอีโคคาร์ทั้งหมด 1.57 แสนคัน ส่วนรถยนต์รุ่นอื่นๆยอดขายร่วงถ้วนหน้าตามสภาพตลาด เช่นเดียวกับปิกอัพ นาวารา ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโมเดล โดยไมเนอร์เชนจ์ช่วงปลายปี

ยอดขายนิสสันปี 2563

ดังนั้น ปิกอัพ นาวารา ใหม่ จะได้ขายเต็มปีในปี 2564 พร้อมเสริมไลน์อัพ เปิดรุ่นย่อยใหม่เพิ่มเติม ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของบริษัท เช่นเดียวกับอีโคคาร์ อัลเมร่า ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ทั้งรูปลักษณ์ สมรรถนะ และอัตราบริโภคนํ้ามัน

อย่างไรก็ตาม รุ่นที่ยังทำยอดขายไม่น่าพอใจคือ เอสยูวีพื้นฐานปิกอัพ เทอร์รา ทำได้เพียง 1,338 คัน รวมถึงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ที่เริ่มส่งมอบช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งในระยะเวลา 6 เดือน (มิ.ย.-ธ.ค.63) ขายไป 1,351 คัน เท่านั้น ส่วนรถพลังงานไฟฟ้า 100% ลีฟ ขายเพียง 41 คัน แม้จะลดราคาลงมา 5 แสนบาทแล้วก็ตาม

สำหรับ ลีฟ ทำยอดขายได้น้อยกว่าที่นิสสันคาดเอาไว้พอสมควร ส่วนหนึ่งเพราะการตั้งราคาสูงเกินไปที่ 1.99 ล้านบาท และโดน อีวี เอ็มจี ที่นำเข้ามาจากจีนโดยไม่เสียภาษีนำเข้า (อีวีนำเข้าญี่ปุ่นเสียภาษีนำเข้า 20%) เช่น MG ZS EV ซึ่งรวมโปรโมชันแล้ว ซื้อได้ราคา 1.1 ล้านบาท หรือ MG EP สเตชันแวกอนเปิดราคาเพียง 9.88 แสนบาท

แม้ นิสสัน ลีฟ จะไม่ได้การตอบรับที่ดีนัก แต่ นิสสัน ยืนยันจะนำเข้าอีวีรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวคือ นิสสัน อริยะ มาทำตลาดในไทยแน่นอน และคาดว่าโมเดลนี้จะแก้ไขความผิดพลาดและแข่งขันได้มากขึ้น

ล่าสุดนิสสัน เปิดเผยผลงานวิจัยของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าว่า คนไทยมีความต้องการ มีความสนใจ และตื่นตัวต่อระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า 43% ของผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้า จะเลือกพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน หากจะต้องซื้อรถยนต์คันต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ผลงานวิจัยที่น่าสนใจที่สุด คือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงวิธีการใช้งานเพิ่มขึ้น 53%

จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างมาก และ 91% กล่าวว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีผลต่อการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

อนึ่ง งานวิจัยเรื่อง อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จัดทำโดยบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เมื่อเดือนกันยายน 2563 ใน 6 ตลาดภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จากการตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ของลูกค้าจำนวน 3,000 คน โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในงานวิจัยนี้หมายถึง อีวี, ปลั๊ก-อินไฮบริด และอี-พาวเวอร์ 

 

หน้า 15 หนังสือฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564