"ซูซูกิ" ฝ่าวิกฤติ พลิกยอดขายโตสวนตลาด

03 ธ.ค. 2563 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2563 | 19:44 น.
5.8 k

วิกฤติโควิด-19 เข้าทาง “ซูซูกิ” ผู้คนหันซื้อรถยนต์ราคาคุ้มค่า เก๋งเล็ก รถอเนกประสงค์ ฟุ้งยอดปฎิเสธสินเชื่อไม่ถึง 10% เร่งเคลียร์ยอดค้างส่งมอบ Suzuki XL7 และ Suzuki Celerio ตั้งเป้าขายทุกรุ่นปีนี้ 25,000 คัน โต 5% สวนทางตลาดรวมร่วง 25%

“ซูซูกิ” กำลังจะเป็น 1 ใน 3 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่มียอดขายเติบโตในปี 2563 แม้ตัวเลข 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.63) ทำได้ 19,623 คัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนอีก 2 ค่ายคือ “อีซูซุ” 140,700 คัน โต 2.1% และ “เอ็มจี” 21,445 คัน โต 1.1%

ทั้งนี้ ซูซูกิ หวังว่า 2 เดือนสุดท้ายคือ พฤศจิกายน และธันวาคม จะได้ยอดขายอีก 5,380 คัน ส่งผลให้ตัวเลขรวมปี 2563 ถึง 25,000 คัน โต 5% สวนทางตลาดรวมที่คาดว่าจะตก 24-25%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ประคองยอดขายฝ่าวิกฤติในช่วงโควิด-19 คือ การมีโปรดักต์ที่ราคาเข้าถึงง่าย สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ อย่างอีโคคาร์รุ่น Suzuki Celerio ราคาเริ่มต้น 3.18 แสนบาท ที่ 10 เดือนขายไป 3,229 คัน โต 293% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่สำคัญเก๋งเล็กรุ่นนี้ยังมียอดค้าง
ส่งมอบอีก 585 คัน

นอกจากนี้ รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งรุ่นใหม่ Suzuki XL7 ที่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ยังได้การตอบรับดีเกินคาด กวาดยอดไป 1,471 คัน หลังเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม และมียอดค้างส่งมอบอีก 1,150 คัน

“Suzuki Celerio และ Suzuki XL7 ทำให้เราได้ลูกค้าใหม่ๆ ประกอบกับการทำแคมเปญที่เหมาะสมและตรงกับกลุ่มลูกค้า เช่น Royalty Program ให้ข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า และพนักงานของดีลเลอร์ (และญาติๆ) รวมถึง แคมเปญสำหรับ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจน เทรดอินโปรแกรม ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ เช่น เกียรตินาคิน ซึ่งพบว่า ยอดปฎิเสธสินเชื่อของซูซูกิน้อยมาก หรือไม่ถึง10% ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำยอดขายให้ประสบความสำเร็จ” นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

วัลลภ ตรีฤกษ์งาม

“เราพยายามประคองยอดขายกลุ่มอีโคคาร์ให้ตกน้อยกว่าตลาด (ตลาดอีโคคาร์ 10 เดือนขายได้ 122,301 คัน) และเสริมด้วยยอด Suzuki XL7 และ Suzuki Carry เข้าไป ขณะเดียวกันพยายามเคลียร์ยอดค้างส่งมอบให้ได้ภายในปีนี้ ส่วนงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 ตั้งเป้ายอดจองไว้ 2,500 คัน พร้อมจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายให้รถยนต์ทุกรุ่น ทั้งดาวน์ 0 บาท ดอกเบี้ย 0% ขับฟรี 90 วัน (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) และแถมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง หรือ Suzuki XL7 มีส่วนลดอุปกรณ์ตกแต่งมูลค่า 10,000 บาท หรือเลือกรับดอกเบี้ยพิเศษ 1.69%”นายวัลลภ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ซูซูกิยังบุกตลาด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี,นราธิวาส, ยะลา,สตูล และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 3 หรือ อันดับ 4 (เป็นรองโตโยต้า อีซูซุ และสูสีกับฮอนด้า) ส่วนแผนขยายโชว์รูมและศูนย์บริการซูซูกิจะมีครบ 130 แห่งในปีนี้

งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2020 จัดระหว่าง 1-13 ธันวาคมนี้ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี ถือเป็นงานใหญ่ส่งท้ายปีที่หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หวังเก็บยอดจองในช่วงสุดท้าย

ขณะที่ตลาด 2 เดือนสุดท้าย มีโอกาสทำได้อีกกว่า 1.5 แสนคัน ส่งผลให้ตลาดรวมปี 2563 ถึง 750,000-760,000 คัน ลดลง 24-25% เมื่อเทียบกับปี 2562

\"ซูซูกิ\" ฝ่าวิกฤติ พลิกยอดขายโตสวนตลาด

สำหรับตลาดรถยนต์รวม 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.63) ทำได้ 608,880 คัน ลดลง 27.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกลุ่มรถยนต์นั่งตก 36.8% และกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ตก 20.9%

ส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ที่อยู่ในความสนใจของตลาด พร้อมเปิดตัวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ คือ Honda City Hatchback,Honda City Hybrid(ตัวถังซีดาน),MG EP รถสเตชั่นแวกอนพลังงานไฟฟ้า 100%, Mitsubishi Outlander PHEV เอสยูวีปลั๊ก-อินไฮบริด,Mazda CX-3 รุ่นปี 2021,All New Kia Carnival และในกลุ่มปิกอัพคือ Nissan Navara,โดยรถยนต์หลายรุ่นเปิดรับจองทันที แต่พร้อมส่งมอบต้นปี 2564 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563