เอ็มจีซี-เอเชีย กางแนวรุก ปี63

12 ก.พ. 2563 | 14:55 น.

เอ็มจีซี-เอเชีย ฝ่าเทรนด์เทคโนโลยีดิสรัปต์ เดินหน้าบิสิเนสซินเนอร์ยี หวังสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมเทงบ 1,000 ล้านบาท ขยายเครือข่าย ผุดเอาต์เลตใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม และเล็งลุยธุรกิจคาร์แชริ่ง มั่นใจปี 63 โกยยอดเข้าเป้า 3 หมื่นล้าน

 

แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2563 จะถูกประเมินว่าหดตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2562 แต่เมื่อหันกลับมาดูที่กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ในประเทศไทย จะพบว่าหลายรายยังมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายสาขา การปรับปรุงบริการหลังการขาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ค่ายเอ็มจีซี- เอเชีย ที่เพิ่งประกาศกร้าวว่าจะเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกยานยนต์

 

“ในปี 2020 เราพร้อมจะก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของการเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ ซึ่งเรามีแผนเพิ่มศักย ภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และทำตลาดแบบใหม่ผ่านหลายช่องทาง เพื่อจะตอบรับกับความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน” นายสัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย กล่าว

ปัจจุบันเอ็มจีซี-เอเชีย มีธุรกิจในเครือที่แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก มีแบรนด์รถยนต์, รถจักรยานยนต์, เรือ ที่ทำตลาดรวม 10 แบรนด์ มียอดขายรวม (รถยนต์ + จักรยานยนต์) 11,188 คันในปี 2562, มีจำนวนโครงข่ายผู้แทนจำหน่ายและธุรกิจบริการต่างๆ กว่า 96 เอาต์เลตกระจายอยู่ทั่วประเทศ และทำธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, กัมพูชา และลาว

 

สำหรับยุทธศาสตร์ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการครบรอบ 20 ปีของการดำเนินงานจะประกอบไปด้วย การขยายเครือข่ายโชว์รูมพร้อมศูนย์บริการครบวงจร ทั้งในรูปแบบแฟล็กชิพโชว์รูม และออโตเพล็กซ์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมเพิ่มศูนย์บริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมสีและตัวถัง โดยเบื้องต้นวางงบประมาณ 1,000 ล้านบาท

เอ็มจีซี-เอเชีย กางแนวรุก ปี63

“ภายในปีนี้จะเปิดเอ็มจีซี-ออโตเพล็กซ์ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะรวม 6 แบรนด์ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ, เปอโยต์ ในส่วนของเปอโยต์ปีนี้จะเน้นเป็นพิเศษ โดยตามแผนงานที่วางไว้จะเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการ 24 แห่ง ซึ่งจะมีทั้งของบริษัทเปิดเองและเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นดีลเลอร์ ไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีแผนงานปรับปรุงสาขาเดิม อย่างสำนักงานใหญ่ ที่ลาดพร้าว รวมไปถึงเพิ่มผลิตภัณฑ์ อย่างเอ็ม เพอร์ฟอร์มานซ์ ทั้งนี้เพื่อรับกับกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และยังรองรับกับธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับโมบิลิตีและครีเอทีฟโซลูชันที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของเราในอนาคต”

ส่วนแผนงานด้านสินค้า ไฮไลต์ที่เตรียมไว้ในปีนี้ อาทิ เปอโยต์ 2 รุ่นใหม่, บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 โฉมใหม่รุ่นประกอบในประเทศ และ มินิ คูเปอร์ เอสอี รถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันกลยุทธ์เกี่ยวกับแคมเปญยังคงมีต่อเนื่อง อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู X2 sDrive20i M Sport X ราคา 2.49 ล้านบาท รับบีเอสไอ 6 ปี /1.2 แสนกิโลเมตร ผ่อนเริ่มต้น 1.49 หมื่นบาทต่อเดือน, บีเอ็มดับเบิลยู 630d GT M S Sport ราคา 3.99 ล้านบาท รับทองคำหนัก 6 บาท รับบีเอสไอ 5 ปี 1 แสนกิโลเมตร

กลยุทธ์ต่อมาที่จะให้ความสำคัญคือการทำตลาดแบบ Omni Channel เน้นสื่อสารหลายช่องทางกับลูกค้าทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ พร้อมเพิ่มช่องทางติดต่อผ่านเบอร์โทร 4 หลัก ที่จะช่วยเชื่อมต่อกับดิจิทัลแพลตฟอร์มและอื่นๆ ในอนาคต

 

นอกจากแผนงานหลักในการปักธงขยายเครือข่ายไปตามจุดต่างๆ และแผนงานด้านผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงแผนสื่อสารตลาด สิ่งสำคัญที่เอ็มจีซี-เอเชีย ซุ่มศึกษามานานหลายปีคือ บริการที่จอดรถยนต์อัตโนมัติ และคาร์แชริ่ง ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลวิจัย ศึกษาความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ เวลาการเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะหลายสายในอนาคต

การรุกธุรกิจน้องใหม่ในครั้งนี้ เอ็มจีซี-เอเชีย มองว่าจะช่วยเกื้อหนุนกับธุรกิจรถเช่าที่มีอยู่ทั้งซิกท์ที่ให้บริการเช่าระยะสั้น และมาสเตอร์คาร์เรนเทิล ที่เปิดให้เช่าระยะยาว โดยจะไม่ได้ออกมาเพื่อแข่งขันกันเอง ส่วนรายละเอียดในการทำคาร์แชริ่ง อาจจะมีทั้งรถยนต์, รถจักรยานยนต์ ก็มีความเป็นไปได้หมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อน

“เรามีเป้าหมายในการทำคือต้องเป็นที่ 1 และทำธุรกิจต้องมีกำไร ดังนั้นในตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา ถือเป็นสเต็ปแรกก่อน คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุโรปหลายแบรนด์ก็ไม่ค่อยคุ้ม” นายสัณหวุฒิ กล่าว

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ 2563