สายลมหนาวพัดเอื่อย ๆ ฤดูกาลนี้ไม่มีสิ่งไหนดีไปกว่าการแพ็คกระเป๋าออกมาท่องเที่ยว สัมผัสอากาศ ธรรมชาติ และผู้คน โดยเฉพาะจังหวัดโซนภาคเหนือ ตอนนี้อากาศเย็น ๆ เหมาะอย่างยิ่งกับการเดินทางขึ้นดอย และชื่นชมความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งตอนนี้กำลังบานสะพรั่ง งดงามสุดลูกหูลูกตา
ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสเดินทางร่วมคณะ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางมาเยี่ยมชมโครงการร้อยใจรักษ์ ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บริเวณตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แม้โครงการนี้จะเน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านเป็นหลัก แต่ส่วนหนึ่งก็จัดทำเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยจัดเป็นสวนดอกไม้สวยงามอลังการ ชื่อว่า "สวนร้อยใจรักษ์"
สวนร้อยใจรักษ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกาดหลวงร้อยใจรักษ์ เดินขึ้นเนินมานิดเดียวก็พบกับมวลหมู่ดอกไม้สีสันสดใส โดยสวนร้อยใจรักษ์ ปี 2567 นี้ จัดขึ้นจากแนวคิดที่เกี่ยวกับความรัก ความงดงาม อวดโฉมความอลังการภายใต้แนวคิด “ร้อยเรียงรักษ์ ” โดยใช้นกยูงและดอกไม้ เป็นตัวแทนสื่อถึงความรัก
พร้อมกันนี้ยังมีตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอย่างเด่นสง่า ชื่อ "น้องก๊อบแก๊บ" นอกจากนี้ภายในสวนยังมีมุมถ่ายรูปมากกว่า 50 จุด มีดอกไม้นานาพันธุ์ มีกิจกรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุก มีร้านกาแฟ มีมุมพักผ่อน และอื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับ "น้องก๊อบแก๊บ" เป็นตุ๊กตาหมีจากถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว (ถุงก๊อบแก๊บ) กลับมาใช้ใหม่ จำนวน 296,444 ใบ เป็นงานคราฟท์ที่เต็มไปด้วยความประณีต และความตั้งใจของเด็ก ๆ และชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ในการรังสรรค์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการมอบความรักและความอบอุ่นที่สามารถฮีลใจได้ โดยนอกจากถ่ายรูปชื่นชมความน่ารักแล้ว ยังสามารถเดินเข้าไปชมปริศนาภายในตัวของน้องก๊อบแก๊บได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากหมดเทศกาลท่องเที่ยวแล้ว น้องหมีก๊อบแก๊บจะถูกนำกลับไปทำเป็นน้ำมันกลับมาใช้ที่ร้อยใจรักษ์อีกครั้ง
ถัดมาจากน้องหมีก๊อบแก๊บนิดเดียวจะเห็นมุมชมวิวสวนร้อยใจรักษ์ แบบพานอรามา โดยมีการจัดพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาวหลากสีสันสลับกันบนเนินเขาเล็ก ๆ โดยมีจุดกึ่งกลางเป็นทางเดินไปยังนกยูงตัว 2 ตัวใหญ่ พร้อมจุดชุมวิวและจุดถ่ายรูปบนเมฆและดวงจันทร์เสี้ยว ซึ่งพื้นด้านล่างเต็มไปด้วยดอกเก๊กฮวยสด สีเหลืองทอง ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่สูดลมหายใจเข้าไปอีกด้วย
สำหรับ “สวนร้อยใจรักษ์” เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นไร่ข้าวโพด แต่การปลูกข้าวโพดสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเพียงปีละครั้ง
ต่อมาชาวบ้านได้นำกาแฟมาปลูกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชาวบ้านไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกกาแฟ โครงการร้อยใจรักษ์ จึงได้วางแผนปรับภูมิทัศน์พื้นที่โครงการฯให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากการดูแลต้นไม้ดอกบริเวณ 2 ฝั่งถนนทางหลวงหมายเลข 1089 (แม่จัน – ฝาง) บริเวณกาดหลวงร้อยใจรักษ์ ติดตั้งตุงประดับ และสร้างจุดถ่ายรูปบริเวณแปลงไม้ดอกไว้หลายจุด
ขณะเดียวกันโครงการฯ ยังได้ปรับภูมิทัศน์บริเวณเนินหลังบ่อพวงสันเขาในแปลงเกษตร 75 ไร่ โดยจัดสร้างทางเดิน ลานชมวิว และเนินไม้ดอกหลากชนิด เพื่อเป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว การปลูกพันธุ์ไม้ที่พบได้ในสภาพแวดล้อมป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย
โครงการร้อยใจรักษ์ ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37,119 ไร่ 4 หมู่บ้านหลัก 20 หมู่บ้านย่อย โดย 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ บ้านหัวเมืองงามและบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,132 ครัวเรือน 4,709 คน
พื้นที่ตำบลท่าตอน เป็นพื้นที่เปราะบางและมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นที่รู้จักว่ามีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ นายเล่าต๋า แสนลี่ อดีตราชายาเสพติดทางภาคเหนือ
ภายหลังการจับกุมและดำเนินคดีเล่าต๋าแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเพพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามาเพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้อย่างสุจริต ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โครงการ “ร้อยใจรักษ์” เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นการบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคท้องที่ท้องถิ่น จำนวน 263 คน และชาวบ้าน 208 คน รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 471 คน รวม 64 หน่วยงาน
โครงการร้อยใจรักษ์เป็นโครงการเพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกัน ทำงานเพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีส่วนร่วม ในทุกมิติตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง
ทั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และ วางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน นั่นคือ ด้านอุปทาน ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด นั่นคือ ด้านอุปสงค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
โดยโครงการมีระยะเวลาในการดำเนินงานด้านการพัฒนารวมทั้งสิ้น 12 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2572 ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่