ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงจากจีนประดิษฐานในไทย

04 ธ.ค. 2567 | 14:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 14:25 น.
3.6 k

เปิดประวัติ พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมาประดิษฐานในไทยชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง 5 ธันวาคม 2567 - 14 กุมภาพันธ์ 2568

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน รัฐบาลจีนให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาสู่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 และจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง 

พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เชื่อว่า เป็นพระทันตธาตุศักดิ์สิทธิ์ (ฟัน) ของพระพุทธเจ้าซึ่งถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1955 ภายในเจดีย์โบราณใกล้เมืองซีอาน และถูกนำมาประดิษฐานในอาคารพิเศษที่ วัดหลิงกวง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาในกรุงปักกิ่ง 

ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงจากจีนประดิษฐานในไทย

วัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและบรรยากาศที่สงบงดงาม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและจากต่างประเทศ 

เมื่อปี ค.ศ. 1983 วัดหลิงกวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้ง

ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงจากจีนประดิษฐานในไทย

พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อกันว่า บุคคลต่าง ๆ มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้ว มีสีต่างกันไป บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น ซึ่งเป็นไปตามกรรม ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล 

ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงจากจีนประดิษฐานในไทย

แม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาแต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเขี้ยวแก้วเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่เดินทางมาสักการะและแสวงบุญเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม

ประวัติ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงจากจีนประดิษฐานในไทย

ทั้งนี้ สำหรับศาสนิกชนชาวไทยและต่างชาติสามารถเดินทางมาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ได้ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00 - 20.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

ข้อมูล/ภาพ กรมประชาสัมพันธ์