อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานในไทย 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68

18 พ.ย. 2567 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 15:21 น.
3.9 k

ไทยเตรียมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากจีนมาประดิษฐานในไทย วันที่ 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68 เดินหน้าสร้างอาคารมณฑป ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมกว่า 2,700 คน จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้ากราบสักการะ ณ ท้องสนามหลวง

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกันให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568  โดยเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น

อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานในไทย 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68

ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารมณฑป การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)และจัดกิจกรรมต่างๆ  ได้แก่ การออกแบบและจัดสร้างอาคารมณฑปสำหรับใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะไทย – จีน  ขณะนี้วธ.อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้ 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 มายังลานพลับพลา

อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานในไทย 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68

มหาเจษฎาบดินทร์ หลังจากนั้นจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ไปยังท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนจากหน่วยงานต่างๆ

ได้แก่ สำนักพระราชวัง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนจิตอาสา 904 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สมาคมอุปรากรจีนแห่งประเทศไทย ผู้แทน 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์ พุทธศาสนิกชนและกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนทั้งหมดกว่า 2,700 คน 

ได้แก่ 1. ขบวนป้ายนำขบวน  2.ขบวนโคมไทย – จีน 3.ขบวนบายศรีภาคเหนือ 4. ขบวนบายศรีภาคใต้  5. ขบวนแตรวง 6.ขบวนบายศรีภาคกลาง  7.ขบวนบายศรีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.ขบวนการแสดงอุปรากรจีน  9.ขบวนการแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ 10. ขบวนการแสดงคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 11. ขบวนวงดุริยางค์ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 12. ขบวนธงชาติไทย 13. ขบวนธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน 14. ขบวนธงธรรมจักร  15. ขบวนธงฉัพพรรณรังสี 

16. ขบวนโคมบัว 17. ริ้วขบวนอิสริยยศอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 18.ขบวนรถพระพุทธรูป 19. ขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 20. ขบวนรถเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 21. ขบวนคณะผู้บริหารและข้าราชการ กระทรวงวัฒนธรรม 22. ขบวนศาสนิกสัมพันธ์ 5 ศาสนา 23. ขบวนพุทธศาสนิกชนและ 24. ขบวน“จิตอาสา”

อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานในไทย 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า  ขณะเดียวกันวธ.จะจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสสำคัญในห้วงระยะเวลาการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ ท้องสนามหลวง ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์รับพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาถึงประเทศไทย วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ ห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน  6  กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง

กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568 วันที่ 1 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวงกิจกรรมเนื่องในวันตรุษจีน วันที่ 29 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวง กิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ท้องสนามหลวง และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ส่งพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ท้องสนามหลวง และห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6

“วธ.ได้ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในไทย  โอกาสในครั้งนี้จะช่วยสานต่อมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทยกับจีนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นผ่านความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม 

ที่ผ่านมารัฐบาลทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและต่อยอดความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างกันมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ภาพยนตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม มรดกภูมิปัญญาและพระพุทธศาสนา ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทยเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว