ตลาดยีนส์โลกโต 36% ดันดีมานด์ฝ้ายพุ่ง แนะผู้ผลิตไทยปรับตัวรับเทรนด์

24 พ.ย. 2567 | 05:24 น.

ชี้เทรนด์ตลาดยีนส์โลกโต 36% จับตา “เกาหลีใต้-ไทย” ฮอตโตก้าวกระโดด จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากขึ้น ส่งผลให้ดีมานด์ฝ้ายพุ่งสูง แนะผู้ผลิตไทยเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น-สิ่งแวดล้อม

นางสาวเมลิสซา บาสโตส ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และข้อมูลเชิงลึก บริษัท Cotton Incorporated เปิดเผยว่า ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากฝ้าย Cotton Incorporated มีเป้าหมายในการเพิ่มความต้องการและความสามารถในการทำกำไรจากฝ้าย

บริษัทจึงศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภค รวมถึงการประเมินตลาดค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ลาตินอเมริกา เกาหลี ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเข้าใจสถานการณ์ตลาดการบริโภคฝ้ายและสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฝ้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวเมลิสซา บาสโตส

จากการศึกษาพบว่า ตลาดกางเกงยีนส์ทั่วโลกกำลังมาแรง โดยเฉพาะในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้และประเทศไทยที่คาดว่าจะโตกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยข้อมูลจาก Cotton Incorporated ชี้ให้เห็นว่า ตลาดยีนส์โลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 36% ในระหว่างปี 2023-2029

โดย 87% ของผู้บริโภคในประเทศไทยระบุว่าพวกเขาชอบใส่กางเกงยีนส์ และครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคหญิงจะยินดีจ่ายเงินสำหรับกางเกงยีนส์สไตล์ใหม่

ขณะที่ตลาดยีนส์เกาหลีใต้คาดว่าจะขยายตัว 29% มีมูลค่าราว 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 5.46 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดยีนส์ไทยก็ไม่น้อยหน้า คาดว่าจะเติบโต 44% มีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.58 หมื่นล้านบาท

นางสาวเมลิสซา บาสโตส

เหตุผลที่ทำให้ตลาดยีนส์ในเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้และไทยกว่า 80% ชื่นชอบการสวมใส่กางเกงยีนส์โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มนี้พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อกางเกงยีนส์ที่มีดีไซน์ทันสมัยและคุณภาพ

นอกจากนี้ผู้บริโภคทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับยีนส์ที่ทำจากฝ้ายหรือผสมฝ้าย โดยมีสัดส่วนผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ที่เลือกซื้อยีนส์ประเภทนี้ 53% และชาวไทยสูงถึง 76% ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีผู้บริโภค 60% ที่สนใจดูเนื้อหาเส้นใยเพื่อประเมินความยั่งยืนของเสื้อผ้า

ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของเสื้อผ้า เมื่อซื้อกางเกงยีนส์ ปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้เส้นใยธรรมชาติ และการผลิตอย่างยั่งยืน อาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ในบริบทที่อุตสาหกรรมกำลังส่งเสริมกลยุทธ์การตรวจสอบย้อนกลับฝ้าย

ซึ่งเป็นวัสดุที่มักถูกตรวจสอบย้อนกลับมากที่สุด ก็ยังคงพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มมูลค่าทางการค้าของผลิตภัณฑ์จากฝ้ายอีกด้วย

นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลทางการตลาดอย่างละเอียดแล้ว Cotton Incorporated ยังมุ่งเน้นด้านความยั่งยืน โดยได้เปิดตัวโครงการรีไซเคิลกางเกงยีนส์ Blue Jeans Go Green™ และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อเพิ่มการรับรู้และพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่ยั่งยืนของผู้บริโภค ซึ่งช่วยเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากฝ้ายได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

ตลาดยีนส์โลกโต 36% ดันดีมานด์ฝ้ายพุ่ง แนะผู้ผลิตไทยปรับตัวรับเทรนด์

สำหรับผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศไทย นับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขาย เนื่องจากไทยมีฐานการผลิตสิ่งทอที่แข็งแรง และมีความสามารถในการผลิตสินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งในด้านดีไซน์ คุณภาพ และความยั่งยืน

นางสาวเมลิสซา กล่าวอีกว่า แม้ว่าตลาดยีนส์จะมีแนวโน้มเติบโต แต่ผู้ผลิตก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์แฟชั่น และปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีหากผู้ผลิตสามารถปรับตัว ดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและโดดเด่นได้ ก็จะสามารถคว้าโอกาสในการเติบโตในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567