วันพืชมงคล พระราชพิธีแรกนาขวัญ วันหยุดหรือไม่ ประวัติ-ความสำคัญ

16 พ.ค. 2566 | 09:43 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2566 | 10:01 น.
1.2 k

วันพืชมงคล 2566 ตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ธนาคารและเอกชนไม่ได้เป็นวันหยุด ยังคงทำงานปกติ วันนี้มีความสำคัญยิ่งต่อภาคเกษตรกรรม

 

วันพืชมงคล เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึง ความสำคัญของเกษตรกร และ ภาคการเกษตร ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ในวันพืชมงคลจะมีการจัด “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือ Royal Ploughing Ceremony ต้อนรับการเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ เป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกร พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีโบราณ มีสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วันพืชมงคลปีนี้ (2566) ตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร

เมื่อพูดถึง วันพืชมงคล ก็ต้องพูดถึงพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธี 2 พิธีที่กระทำร่วมกัน นั่นคือ

  • พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทั้งข้าว เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และพืชจำพวกงา มีพระสงฆ์มากระทำพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์พืชให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง
  • ส่วน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง เป็นพระราชประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้นำพิธี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่หวั่นภยันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเพาะปลูก ให้มีศรัทธาและมั่นใจ ด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยพิธีเสี่ยงทายทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ

แรกนาขวัญ ยังหมายถึง พิธี “เริ่มต้น” การไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว

อีกทั้งคำว่า แรกนาขวัญ ยังหมายถึง พิธี “เริ่มต้น” การไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

ด้วยเหตุอันเป็นมงคลนี้ เกษตรกรจึงถือเอาวันพืชมงคล คือวันเริ่มต้นฤกษ์แห่งการหว่านไถ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย เช่น พิธีของพราหมณ์ได้มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีเป็นประจำทุกปี โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนจำนวนมาก มาคอยเฝ้าชมพระราชพิธีแรกนาขวัญ

ทั้งนี้ ตำแหน่ง “พระยาแรกนาขวัญ” นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ก็คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในแต่ละยุคสมัย เมื่อเสร็จพิธี ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าว นำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกหรือเก็บไว้เป็นถุงเงินเพื่อความเป็นสิริมงคล

ไฮไลท์สำคัญในงานพระราชพิธีพืชมงคล-แรกนาขวัญ คือ การเสี่ยงทาย ผ้านุ่งแต่งกาย และการเสี่ยงทายของกินของพระโค

สำหรับการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย นั้น ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบเพื่อเป็นการเสี่ยงทาย จะมีผ้าลาย 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ

  • ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

การเสี่ยงทายของกินพระโค

ส่วน การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งของพระโค ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น ได้แก่

  • ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควรธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

ทั้งนี้ วันพืชมงคลในแต่ละปี วันที่จะไม่ตรงกัน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรกระทำในสำคัญนี้ คือ ประชาชนทั่วไปควรประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ นอกจากนี้ ตามสถาบันการศึกษาหรือสถานที่ราชการ ยังมีการจัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย