“พระพลเทพถือคันไถ” ทำไมจึงมาอยู่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ?

28 เม.ย. 2566 | 17:34 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 17:34 น.

รู้จัก “พระพลเทพถือคันไถ” ทำไมจึงมาอยู่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ? ต้องอ่าน! เรื่องเล่า สอดสัมพันธ์กับความเชื่ออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สู่วิถีชีวิตของคนไทยอย่างมีนัยยะลงตัว

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบพระราชพิธีบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เริ่มต้นพิธีพราหมณ์ตั้งแต่ เวลาประมาณ 03.00 น. มีการปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ ทำน้ำมนต์ รวมทั้งประพรมน้ำมนต์ที่คันไถ และพระโค โดยมีการตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรม  พระนารายณ์  พระอุมาภควดี  พระมหาวิฆเนศวร พระลักษมี  พระพลเทพ พระโคอุสุภราข เทพี  พระอินทร์  พระภูมิเทวี  โดยเทวรูป 7 องค์อัญเชิญมาจากเทวสถาน สำหรับพระนคร (โบสถ์พราหมณ์) คือ พระอิศวร พระพรม  พระนารายณ์  พระอุมาภควดี  พระมหาวิฆเนศวร พระลักษมี  และพระภูมิเทวี  นอกจากนี้มีเทวรูปที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ เทพี  พระอินทร์  พระพลเทพ และพระโคอุสุภราข 

พระพลเทพ จัดเป็นรูปแบบของเทพารักษ์ที่เรียกเป็นสามัญว่า เจว็ด หรือพระภูมิซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปสลักจากไม้หรือเขียนลายรดน้ำ นำไปประดิษฐานในศาลเพื่อสักการะ เซ่นสรวงบูชา ส่วนใหญ่ออกแบบเป็นภาพเทวดาถือพระขรรค์ แต่พบว่ามีการทำเป็นรูปเทวดาสองพระหัตถ์ พระหัตถ์หนึ่งถือหนังสือแบบสมุดไทยดำ อีกพระหัตถ์หนึ่งถือแส้ หรือถือพระขรรค์  เทพารักษ์นี้ชาวไทยนับถือว่า เป็นพระภูมิเจ้าที่ มีหน้าที่เป็นผู้รักษาทะเบียนมนุษย์ที่อยู่ในท้องที่ของพระภูมิ หากตั้งบูชาอยู่ในศาล เรียกว่า เจว็ดศาลพระภูมิ

 

สำหรับพระภูมิ หรือเทพารักษ์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานภายในบริเวณสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ หรือรักษาหน่วยงานของราชการจะมีลักษณะท่าทางและเครื่องอุปโภคที่ทรงถือเป็นไปตามภาระที่รับผิดชอบ เช่น พระภูมิที่ประดิษฐานในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ มีนามว่า พระพลเทพ ทรงยืน มีเครื่องอุปโภค คือ คันไถ ที่ทรงจับด้วยพระหัตถ์ขวาและอยู่ในท่ากำลังไถนา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวและรวงข้าว ลักษณะดังกล่าวสื่อถึงความหมายที่เป็นมงคลในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

(ข้อมูล : หนังสือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน, กรมศิลปากร)

“พระพลเทพถือคันไถ” ทำไมจึงมาอยู่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ?

ภาพ : เจว็ดพระพลเทพถือคันไถ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ในราชสำนักไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏพระราชพิธีนี้มาโดยตลอด นับว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของพระราชอาณาจักรในพระราชพิธีที่โดยทั่วไปของราชสำนักไทยมักจะตั้งรูปพระอิศวร พระอุมา พระวิษณุ พระลักษมี และพระคเณศ ในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน ได้ระบุเทวรูปที่จะนำมาตั้งในปะรำพิธี ดังนี้

“…พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ …”

จะเห็นได้ว่า เทวรูป 4 องค์แรกจะเป็นเทวรูปทั่ว ๆ ไปที่มักจะนำมาตั้งบูชาในงานพระราชพิธี แต่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีเทวรูปพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1 องค์ คือ เทวรูปพระพลเทพแบกคันไถ พระพลเทพหรือพระพลราม ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อยู่ในคัมภีร์ศาสนาฮินดูหลายฉบับ ทั้ง วิษณุปุราณะ พรหมปุราณะ ภควัตปุราณะ ฯลฯ กล่าวตรงกันว่า พระองค์นั้นทรงเป็นพี่ชายของพระกฤษณะ ผู้เป็นองค์อวตารของพระวิษณุ ส่วนพระองค์คืออวตารของพญาเศษนาคหรือ อนันตนาคราช ในวัยหนุ่มพระองค์ได้ติดตามพระกฤษณะเพื่อปราบปรามกษัตริย์ผู้ชั่วร้ายคือ พญากังสะ และอสูรต่าง ๆ อีกมากมาย

พระองค์ทรงมีอาวุธประจำกายคือ คันไถ ซึ่งหากตีความทางประติมานวิทยาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะบูชาพระองค์ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตร เนื่องจากคันไถ คือ อุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาให้พระพลเทพถือก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า พระองค์คงเกี่ยวข้องกับการไถ่หว่านในทางใดทางหนึ่ง 

อีกทั้งพระองค์ทรงเติบโตมาในหมู่บ้านคนเลี้ยงโค ซึ่งอีกสถานะหนึ่งของพระองค์ คือ โคบาล จึงอาจเป็นไปได้ว่าพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม แม้ว่าในคัมภีร์ปุราณะจะไม่มีการพูดถึงความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างพระพลเทพกับการเกษตรกรรม แต่ในคัมภีร์วิษณุธรรโมตตรปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ศิลปศาสตร์ กล่าวไว้โดยตรงว่า พระพลเทพเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร  จึงแน่ใจได้ว่า คติการบูชาพระพลเทพในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตรมีอยู่ในอินเดียและคงส่งอิทธิพลมาสู่ประเทศไทยด้วยนั่นเอง

พระพลเทพในหลักฐานของไทย เชื่อว่าคติพระพลเทพถือคันไถคงเป็นที่รับรู้ของคนอยุธยาอยู่แล้วและสืบต่อรูปแบบมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพียงแต่ในปัจจุบันยังไม่พบเทวรูปพระพลเทพในสมัยอยุธยาเลย คงเหลือแต่คำบรรยายรูปลักษณ์อยู่ในงานวรรณกรรมเท่านั้น หลักฐานที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับพระพลเทพในสมัยอยุธยาพบอยู่ใน อนิรุทธคำฉันท์ 

นอกจากนี้แล้วพระพลเทพในสมัยอยุธยาคงเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเทพเจ้าผู้เกี่ยวข้องกับการเกษตร จึงใช้นามพระพลเทพมาเป็นราชทินนามของเสนาบดีกรมนาว่า “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิธี ปรากรมภาหุ มีศักดินา 10,000” และความคิดนี้ก็สืบทอดต่อไปถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 2 ได้มีหมายรับสั่งให้หล่อเทวรูป จำนวน 39 องค์เพื่อใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ของราชสำนัก หนึ่งในนั่นมีรูปพระพลเทพถือคันไถรวมอยู่ด้วย หากแต่ไม่อาจระบุได้ว่านำไปใช้ในพระราชพิธีใดเรื่องพระพลเทพมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเริ่มปรากฎหลักฐานชัดเจนในคัมภีร์นารายณ์ 20 ปาง ซึ่งเขียนขึ้นในสมัย ร.3  เล่าเรื่องกฤษณาวตาร คือเรื่องพระกฤษณะปราบกรุงภานาสูร ในตอนท้ายของเรื่องได้ระบุถึงพรที่พระกฤษณะมอบให้พระพลเทพ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญโดยตรงว่า  “แล้วพระเป็นเจ้าทั้งสองก็ประสาทพรให้พระพลเทพให้เป็นใหญ่ในพืชธัญญาหารโดยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่นั้นมา” 

“พระพลเทพถือคันไถ” ทำไมจึงมาอยู่ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ?

นอกจากนี้ยังมีการนำรูปพระพลเทพมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในตราดวงหนึ่งของกรมนา คือ ตรานักคลีอังคัล สำหรับใช้อนุญาตให้ถางป่าเป็นไร่นา  สะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับพระพลเทพว่าเกี่ยวข้องกับการไถ่หว่านและการเกษตรเป็นอย่างดี ทั้งยังพบเจว็ดรูปพระพลเทพถือคันไถและรวงข้าว พร้อมภาพทุ่งนา ฝน และวัวควายเป็นองค์ประกอบในรูปเจว็ดนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างพระพลเทพกับการทำนาไถ่หว่านในความเชื่อของไทย นักวิชาการเชื่อว่ารูปเจว็ดนี้อาจสร้างขึ้นในสมัยร.3 และอาจใช้ตั้งบูชาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย

แม้ว่าหลักฐานทางด้านเอกสารที่ระบุถึงการตั้งเทวรูปพระพลเทพในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพบเก่าที่สุดในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น จึงยากที่จะระบุชัดว่าในสมัยรัชกาลที่ 2-3 หรือเก่าแก่กว่านั้นจะมีการตั้งรูปพระพลเทพในพระราชพิธีนี้จริง กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระพลเทพน่าจะถูกบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรมมาแล้วตั้งแต่ในประเทศอินเดีย และความเชื่อนี้ได้ส่งผ่านศาสนาฮินดูที่เข้ามายังประเทศไทย

โดยหลักฐานต่าง ๆ ทำให้เชื่อได้ว่า คนไทยรู้จักพระพลเทพและบทบาทของการเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตรมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา และส่งต่อความเชื่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งจากหลักฐานคัมภีร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ทราบว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างพระพลเทพกับงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และสันนิฐานว่าการตั้งรูปพระพลเทพในงานพระราชพิธีดังกล่าวนี้คงสืบมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือในสมัยรัชกาลที่ 2-3 เป็นอย่างน้อย การตั้งรูปพระพลเทพจึงเป็นการเชื่อมโยงคติการบูชาพระองค์ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรมกับพระราชพิธีแห่งการเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกนั่นเอง