อาหารสัตว์เลี้ยง 5 ล้านล้านแข่งดุ ผู้ผลิตไทยบุกน่านน้ำใหม่ "จีน-อังกฤษ"

04 ธ.ค. 2565 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2565 | 20:03 น.
2.3 k

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 5 ล้านล้านบาทแข่งเดือด ผู้ผลิตไทยสบโอกาสหันปั้นแบรนด์เจาะตลาดทั่วโลก หวังชิงส่วนแบ่งพร้อมสยายปีกบุกน่านน้ำใหม่ “จีน-อังกฤษ” หลังพบตลาดทะยานเติบโตต่อเนื่อง

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงกลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่น่าจับตา ด้วยมูลค่าตลาดทั่วโลกที่สูงถึง 5 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตปีละเกือบ 6% และคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเพิ่มอีก 7% โดยปัจจัยที่เข้ามาเสริมตลาด คือสังคมเมืองและคนอยู่เป็นโสดมากขึ้น และครอบครัวมีบุตรน้อยลง

 

กลุ่มคนต่างๆเหล่านี้ต้องการสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนโดยเฉพาะในช่วงโควิด 3 ปีที่ผ่านมาสถิติในประเทศญี่ปุ่นอัตราการเลี้ยงสัตว์เติบโตขึ้นถึง 15% และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก

              

นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC เปิดเผยว่า ธุรกิจหลักของ ITC เกือบ100% อยู่ในอาหารเปียกและขนม และ3 ใน 4 หรือประมาณ 75% ของรายได้มาจากอาหารแมว นั่นหมายความว่า ITC อยู่ในกลุ่มที่เติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจหลักของ ITC มาจากอาหารสัตว์เลี้ยง 85% และขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง 15% (อาหารแมว 80% และอาหารสุนัข 20%)

อาหารสัตว์เลี้ยง 5 ล้านล้านแข่งดุ ผู้ผลิตไทยบุกน่านน้ำใหม่ \"จีน-อังกฤษ\"

ขณะที่ธุรกิจ OEM กินสัดส่วนราวๆ 98% และแบรนด์ของบริษัท 2% ส่งออกไปมากกว่า 45 ประเทศทั่วโลกโดยตลาดหลักยังคงเป็นอเมริกา 45% เนื่องจากเป็นประเทศที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก ในปีที่ผ่านมา ITC สามารถปิดรายได้มากกว่า 1.45 หมื่นล้านบาท เติบโต15% ตลอด 3 ปีและมีกำไรสุทธิ 19%

              

อย่างไรก็ตาม ITC จะมุ่งเน้นตลาดในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตที่ดี อาทิ อเมริกา ซึ่งกินสัดส่วน 44.9% ของรายได้จากการขายของบริษัท มูลค่าตลาด 38,000 ล้านดอลลาร์ เติบโต 5.6%เป็นตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกและอาหารแมวมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าอาหารสุนัข รองลงมาเป็นตลาดยุโรปซึ่งกินสัดส่วน 19%ของรายได้จากการขาย มีมูลค่าตลาดในปีที่ผ่านมา 16,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงที่สุด อันดับ 3 คือญี่ปุ่นซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการขาย 14%

              

“เราเริ่มมองหากลุ่มลูกค้าในน่านน้ำใหม่ๆ โดยเน้น 2 ประเทศคือจีนและอังกฤษเพราะเป็นตลาดที่มีช่องว่างสำหรับการเติบโตสูง เริ่มจากประเทศจีน แม้ว่าตอนนี้การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวห่างชั้นกับอเมริกาเจ้าตลาดของโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออัตราการเติบโตที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 20% และในอนาคต 5 ปีข้างหน้าจะเติบโต 22% ขณะที่ อเมริกา จะเติบโตเพียงแค่ 5.6% เท่านั้น”

              

สำหรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดในประเทศจีนบริษัทจะร่วมมือกับแบรนด์ OEM ต่างประเทศเพื่อส่งเข้าไปขายในประเทศจีนส่วนของ “อังกฤษ” ปัจจุบันส่วนแบ่งของครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 59% ซึ่งสูงเป็นประวัติการเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมาและเป็นผู้นำเข้าอาหารสุนัขและแมว 9 อันดับแรกของโลกเป็นตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอาหารแมวและสุนัขในยุโรป

              

ด้านนางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ.เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (AAI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า AAI มองเห็นเทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2011 และเริ่มเข้ามาโฟกัสธุรกิจนี้มากขึ้นเพราะผู้บริหารมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจะเติบโตขึ้นทุกเซกเมนต์ไม่ใช่แค่อาหาร ทำให้มีคู่แข่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น AAI มองว่า บริษัทไม่สามารถห้ามคนอื่นได้ ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อุตสาหกรรมมีการเติบโตที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจของAAIมากคือ “ต้องวิ่งให้เร็ว”

              

“สิ่งแรกเราต้องใหญ่ขึ้นโดยเพิ่มกำลังการผลิต 2. ต้องยกระดับตัวเราไปอีกขั้นทำให้คนมองเห็นว่าAAI เติบโตขึ้น มีมาตรฐานในการดำเนินงานและมาตรฐานในการกำกับดูแลกิจการและมาตรฐานในการกำหนดกลยุทธ์มากขึ้น และพร้อมที่จะเติบโตไปกับลูกค้าซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก
อาหารสัตว์เลี้ยง 5 ล้านล้านแข่งดุ ผู้ผลิตไทยบุกน่านน้ำใหม่ \"จีน-อังกฤษ\"

ตอนนี้เรามีทั้งธุรกิจ OEM และแบรนด์ของตัวเอง 3 แบรนด์คือ "มองชู" เจาะกลุ่มอาหารสุนัขและแมวพรีเมียม แบรนด์ "ฮาจิโกะ" เจาะตลาดแมสและแบรนด์ "โปร" เจาะตลาดล่างแต่แบรนด์ของเราเองยังมีขนาดที่เล็กมากเพียงแค่ 2% เท่านั้น ซึ่งเราก็มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนยอดขายในแบรนด์ของตัวเองให้ได้เป็น 10% ของยอดขายรวมภายใน 5 ปีข้างหน้า”

              

อย่างไรก็ตามผู้บริหารมองว่าสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดหากเน้นเจาะกลุ่มตลาดในประเทศไทยหรือตลาดในเอเชียยังพอมีโอกาสสำหรับแบรนด์เกิดใหม่ เพราะเป็นตลาดที่เพิ่งจะมีการฟอร์มตัว แต่ถ้าเป็นตลาดอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน ตลาดค่อนข้างเซตตัวในระดับหนึ่งแบรนด์หลักสามารถยึดส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น โอกาสของแบรนด์เกิดใหม่จึงค่อนข้างน้อย

              

อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัจจัยบวก และdemand ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ปัจจัยลบพื้นฐานโดยทั่วไปที่คาดว่าจะเข้ามากระทบธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง คือภาวะ Recession ในยุโรป ถ้ารุนแรงมากขึ้นก็คงไม่เป็นผลดีสักเท่าไหร่ รองลงมาเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าการคาดการณ์เมื่อตอนต้นปี นอกจากนี้ยีงมีเรื่องของค่าเงินที่ผันผวนอาจจะต้องรอดูว่ามันมีเสถียรภาพมากแค่ไหนเพราะต้องยอมรับว่าในธุรกิจ OEM ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่จะเน้นส่งออกมากกว่า 90% เฉพาะฉนั้นหากค่าเงินมีความผันผวนมากจะทำให้การบริหารจัดการยากตามไปด้วย

              

ขณะที่นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) กล่าวว่า ไทยมีการส่งออกอาหารสัตว์เป็นอันดับต้นๆของโลก โดยมีมูลค่าส่งออก 62,700 ล้านบาทอีกทั้ง และประเทศไทยกำลังเป็นฐานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

 

เพราะมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบและมี demand มากกว่า supply ค่อนข้างมหาศาลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดที่ทำให้กลุ่ม Pets humanization ขยายตัวผู้คนเริ่มหันมาสนใจในการเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกครอบครัว แม้เศรษฐกิจจะถดถอยก็ตามแต่ผู้เลี้ยงสัตว์เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมและมีความยั่งยืน

              

“เราเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีเป้าหมายในการส่งออก 60% และยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายฐานการผลิตของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงจากยุโรป เรามีการผลิตผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และสอดรับกับพฤติกรรมของกลุ่ม pet humanization ทั้งเรื่อง functional ingredient ที่มีประโยชน์เฉพาะทางโดยนำ CBD เข้าไปเป็นส่วนผสมในอาหารทานเล่น”

              

สำหรับ NRF ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทานเล่นสัตว์เลี้ยงแบบ One stop service โดยมีออเดอร์ที่รองรับไปถึงอนาคตและเริ่มหาโรงงานที่ 2 ในการขยายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตทั้งในส่วนธุรกิจ OEM สำหรับลูกค้าต่างประเทศ และ own brand ภายใต้แบรนด์ Katty Boss, Bravo Boss และ Prima Boss นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องและพบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความใส่ใจด้านความยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนี้ในส่วนของ own brand จะมีการทำ re-branding และปรับ segment ไปสู่กลุ่มที่สูงขึ้น เช่น Premium segment

 

“เรามีทีมงานที่มาประสบการณ์ทำให้เราสามารถตีตลาดได้ จากการตอบสนอง enquiry ของลูกค้า OEM ที่รวดเร็วและใช้ความเชี่ยวชาญในการปรับสูตรการผลิตให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าได้ เรามีฐานลูกค้าทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถที่จะสู้กับคู่แข่งและสร้างมาร์เก็ตแชร์ได้พอสมควร โดยเรามีเป้าหมายไปสู่ท็อปเพลเยอร์ในอาหารสัตว์ชนิดแห้ง โดยใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น web-site สร้างฐานลูกค้า OEM รายใหม่อย่างต่อเนื่อง”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,840 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565