SCG ชูนวัตกรรม CPAC 3D  สร้างต้นแบบบ้านปะการัง  รวมพลัง ‘รักษ์ทะเล’ 

21 ส.ค. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2565 | 15:37 น.

เอสซีจี ผนึกกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และภาคี เปิดโครงการ “รักษ์ทะเล” นำนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution สร้างต้นแบบบ้านปะการัง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล  

“ชนะ ภูมี” Vice President-Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ได้เปิดโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง โดยบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เอสซีจี ได้ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ Earth Agenda

 

พร้อมภาคีสนับสนุน กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดตัวโครงการดังกล่าว พร้อมทั้ง สร้างต้นแบบบ้านปะการังที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ความร่วมมือครั้งนี้ เอสซีจีได้นำ นำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ จาก CPAC 3D Printing Solution ขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบนำร่อง ที่มีรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ รวมทั้งนำองค์ความรู้จากพันธมิตร ร่วมฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ แนวปะการัง โดยเปิดรับการระดมทุนผ่านมูลนิธิ Earth Agenda 
 

การขึ้นรูปปูนซีเมนต์จาก CPAC 3D Printing Solution สามารถพิมพ์ขึ้นรูปวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือบ้านปะการังได้ใกล้เคียงเสมือนจริง เน้นการออกแบบพัฒนาโครงสร้างจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล สามารถปรับแต่งรูปแบบลักษณะ รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง แสงและเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ 

ด้วยการพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะของหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ ให้มีค่าความเป็น
กรดด่างใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล อันเป็นการช่วยย่นระยะเวลาที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตสำหรับการปลูกถ่ายปะการัง และใช้ฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น สามารถติดตั้งขนย้าย ได้สะดวก และสามารถเพิ่มลูกเล่นการถอดประกอบชิ้นส่วนได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 ผลงาน “นวัตปะการัง”  


“พรศรี สุทธนารักษ์” รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการนำร่องนี้ มีแผนดำเนินงานในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เขาหลัก จังหวัดพังงา เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี โดยปีนี้ มีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ปะการังให้สมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 40% เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลปีละ 1,000 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index)ให้มีค่ามากกว่า 75% 


จากการดำเนินโครงการ พบปะการังลงเกาะเฉลี่ยมากกว่า 40 โคโลนีต่อฐาน และยังมีสัตว์ทะเลและปลาเข้ามาอยู่อาศัยกว่า 70 ชนิด


สำหรับเอสซีจีให้ความสำคัญกับการดำเนินกธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4Plus ได้แก่ 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ และมีความเป็นธรรม โปร่งใส ซึ่งโครงการ “รักษ์ทะเล” ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565