เป๊ปซี่โค ปลุกพลังบวก ‘ลด-เลิก-แยก’ ขยะ สู่แหล่งนํ้า

23 ก.ค. 2565 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 22:51 น.

การกำจัดขยะ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผนึกพันธมิตรสร้างพลังบวก PepsiCo Positive สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเพื่อชุมชน ผ่านกิจกรรม “พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” สร้างความตระหนักในการลดใช้ เลิกทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ และแยกขยะอย่างถูกวิธี

“จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งจำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” ซึ่งจัดโดยอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และคณะสังคม สงเคราะห์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน 

 

ด้วยกิจกรรมพายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักให้คนไทยเลิกทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง และยังเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ ที่ต้องพึ่งพาสายน้ำและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและยั่งยืน หรือ PepsiCo Positive (pep+) ของ บริษัทฯ

ภายใต้วิสัยทัศน์ PepsiCo Positive ที่มีเป้าหมายสร้างห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก เช่น การใช้พลังงานทางเลือก ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการมีบทบาทด้านความรับผิดชอบมากขึ้นในการเก็บขยะพลาสติกและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งเชื่อมโยงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านกิจกรรมพายเรือเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ และคลองบางกรวย พร้อมทั้งการพายเรือคายัค เก็บขยะในลำคลอง ซึ่งปีนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

 

การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ พนักงานจิตอาสาของ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ร่วมเก็บและคัดแยกขยะ รวมทั้งร่วมฟังเสวนาเรื่องการดูแลแม่น้ำลำคลองเพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ และนนทบุรี ขณะเดียวกัน เป๊ปซี่ โค ยังได้สนับสนุนเรือคายัคให้กับอาสาสมัครจิตอาสาในการพายเก็บขยะใน 3 ลำคลอง 

จากการพายเรือเก็บขยะใน 3 ลำคลองครั้งนี้ ขยะที่รวบรวมได้ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติกกระป๋องโลหะ และขวดแก้ว ซึ่งอาสาสมัครได้ทำการคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาหมุนเวียนใช้อีกครั้ง เป็นการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนริมลำคลองต่อไป 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,802 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565