สธ.ตอบเอง ไขทุกข้อสงสัยเรื่อง "ฝีดาษลิง" 

20 พ.ค. 2565 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2565 | 23:55 น.

สธ.เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ติดต่อได้ทั้งจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน อธิบดีกรมควบคุมโรคไขข้อข้องใจ ติดต่อได้อย่างไร อาการ และวิธีป้องกันตัว อ่านได้ที่นี่ 

จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง เพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันตนเอง ว่า

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

"ฝีดาษลิง" ไม่ใช่โรคเกิดใหม่ มีมากว่า 20 ปีแล้ว 

โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)

 

ชื่อ "ฝีดาษลิง" แต่เจอได้ในสัตว์หลายชนิด

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก และหนูป่า เป็นต้น รวมทั้ง "คน" ก็สามารถติดโรคนี้และเป็นพาหะนำโรคได้

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ

คนติดฝีดาษลิงจากสัตว์ได้อย่างไร

คนสามารถติดโรคนี้จากสัตว์โดยการ

  • สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน
  • การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  • หรือ อาจ "ติดทางอ้อม" จากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

 

การติดต่อระหว่างคนสู่คน

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

 

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน

ติดแล้วมีอาการอย่างไร

โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์

 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

การรักษาและการป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

 

ก่อนหน้าที่โลกจะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ


สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ